หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมล็ดผักชีล้อม เพื่อสุขภาพ

ผักชีล้อม(fennel)
ชื่อวงศ์(Family name) : Umbelleriferae (APIACEAE)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Foeniculum vulgare Mill ( Oenanthe stolonifera Wall.)



ผักชีล้อม หรือ เฟนเนล หรือ ยีหร่าฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดแถบยุโรปใต้ และเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นถึงร้อน

เป็นพืชที่มีการนำไปใช้ทั้งเป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร และการรักษาแผนโบราณ โดยใบสามารถใช้รับประทานสดควบคู่กับอาหารซึ่งกลิ่นหอมฉุนที่เป็นลักษณะเฉพาะจึงช่วยในการเสริมรสชาติอาหาร หรือใช้กลบกลิ่นคาวของอาหารได้ ส่วนเมล็ดจะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสรรพคุณทางยาจึงมีการนำไปใช้ในการรักษาแผนโบราณ

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในเมล็ดผักชีล้อม

เมล็ดผักชีล้อมมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบประมาณ 3%  ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบหลักได้แก่ อะนีโทล(anethole), เอสตราโกล(estragole), เฟนโชน(fenchone) ลิโมนีน(limonene) และ อัลฟาไพนีน(α-pinene) ซึ่งปริมาณสารเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ของผักชีล้อม เช่นถ้าผักชีล้อมพันธุ์ขมก็จะมีปริมาณเฟนโชน และ อัลฟาไพนีนอยู่สูง ส่วนอนีโทล และเอสตราโกลจะต่ำซึ่งต่างจากผักชีล้อมพันธุ์หวาน(1,2)

นอกจากน้ำมันแล้วเมล็ดผักชีล้อมยังมีสารประกอบฟินอลิกที่ละลายในน้ำและมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเช่น กรดคาฟิอิลควินิก(caffeoylquinic acid) กรดโรสมารินิก(rosemarinic acid) เควอซิทิน-3-โอ-กาแลกโตไซด์(quercitin-3-O-galactoside) แคมฟิรอล-3-โอ-รูติโนไซด์(kaempferol-3-O-rutinoside) เควอซิทิน(quercitin) และ รูทิน(rutin) เป็นต้น(1)

คุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรค

ต้านอนุมูลอิสระ
ทั้งน้ำมันหอมระเหย และสารประกอบฟินอลิกในเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ(1,2,3)
สารสกัดด้วยน้ำของเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ(4)

ต้านจุลชีพ
น้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย และรา(1,2,3)
สารสกัดด้วยน้ำมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย เช่น Helicobactor pyroli (3) และไวรัส(4)
มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากผักชีล้อมสามารถต้านเชื้อวัณโรค M. tuberculosis ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานผักชีล้อมเป็นประจำอาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคได้(5)

ต้านการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด(antithrombotic activity)
อะนีโทล สารสำคัญน้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการลดการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด(3)

ปกป้องตับ
มีการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมสามารถป้องกันพิษจากคาร์บอนเตตระคอลไรด์จากการทำลายตับได้(1,3) และจากนี้ยังพบว่าสามารถยับยั้งการเกิดตับอักเสบได้โดยการยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันที่ตับ(6)

มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง(estrogenic activity)
กระตุ้นการมาของรอบเดือน, บรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน เพิ่มความต้องการทางเพศ และบรรเทาอาการปวดประจำเดือน(1,3) ซึ่งสารสำคัญในเมล็ดผักชีล้อมที่มีฤทธิ์นี้คืออะนีโทล(3)
จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ในหนูตัวเมียได้(7)

ต้านอักเสบ
สารสกัดด้วยเมทานอลของเมล็ดผักชีล้อมสามารต้านโรคที่เกิดจากการอักเสบแบบเฉียบพลัน และกึ่งเฉียบพลันได้ รวมถึงภาวะภูมิไวเกิน หรือภูมิแพ้ประเภทที่4(delayed type hypersensitivity)(3)
บรรเทาปวดอักเสบ
สารสกัดจากเมล็ดผักชีล้อมด้วยเมทานอลมีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวดอักเสบ(8)

ลดระดับน้ำตาลในเลือด
น้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวานให้มีระดับปรกติได้ทั้งนี้อาจเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นของมันทำให้เกิดความสมดุลในการทำงานของร่างกาย(3,9)

ป้องกันมะเร็ง
สารสกัดด้วยเมทานอล และน้ำมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก(3,4)
ต้านการกลายพันธุ์ และป้องกันมะเร็ง(10,11)

ต้านความเครียด ปกป้องสมอง ฟื้นฟูความจำ
จากการศึกษาในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความเครียดพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดด้วยน้ำจากเมล็ดผักชีล้อมมีระดับความเครียดน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด และนอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นพบว่าหนูที่ถูกทำให้เกิดความจำเสื่อมเมื่อได้รับสารสกัดจะฟื้นฟูความจำได้ดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด(12)

ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ
จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำของเมล็ดผักชีล้อมสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยเอทิลอัลกอฮอล์ได้ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการต้านออกซิเดฃั่น(13)

บรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหาร
เมล็ดผักชีล้อมช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่ช่วยในการขับลม บรรเทาอาการท้องอืด และปวดเกร็งท้อง นอกจากนี้ยังช่วยในการย่อยอาหาร(14)

การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ

เมล็ดรสหอมร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ แก้ไอ แก้หอบ บำรุงปอด(14) นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มน้ำนมในหญิงให้นมบุตร (7)
เป็นสมุนไพรหนึ่งในพิกัดตรีพิษจักร ซึ่งได้แก่ลูกผักชีล้อม ลูกจันทน์ และกระวาน ซึ่งมีสรรพคุณ บำรุงน้ำนม  แก้กระษัย  ฆ่าเชื้อคุดทะราด  แก้ท้องร่วง(15)

วิธีการทำชาเมล็ดผักชีล้อม หรือ ชาเฟนเนล
ทุบเมล็ดผักชีล้อมพอแตกเพื่อให้น้ำมันหอมระเหยภายในเมล็ดออกมา แล้วนำไปใส่ในน้ำร้อน โดยอัตราส่วนคือใช้เมล็ดผักชีประมาณ 1 ช้อนชา (หรือ 2 กรัม) ต่อน้ำ 1 ถ้วยตวง (หรือ 240 มล.) ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที (ปิดฝาหม้อระหว่างต้ม) จากนั้นกรองเอาเมล็ดออก ดื่มได้ตามสะดวก เพื่อรสชาติที่ดีขึ้นอาจมีการเติมน้ำผึ้ง และน้ำมะนาวแล้วแต่ชอบ
Photo CR: www.buzzle.com

ชาเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระจึงใช้ดื่มเพื่อสุขภาพทั่วไป หรือเพื่อบรรเทาอาการไอ ท้องอืด จุกเสียด ปวดเกร็งท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ และเนื่องจากมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียจึงช่วยระงับกลิ่นปาก นอกจากนี้จากคุณสมบัติที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง จึงช่วยขับประจำเดือน บรรเทาอาการของสตรีวัยทอง และเพิ่มน้ำนมหลังคลอด

ไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายฮอรโมนเพศหญิงอาจทำให้แท้งลูกได้ และควรระวังในกรณีใช้ระหว่างการรับประทานยาคุมกำเนิดเนื่องจากอาจไปลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้

ความเป็นพิษ

จากการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของเมล็ดผักชีล้อมที่สกัดด้วยเอทานอล 50% ในหนูทดลองโดยการกรอกปากในปริมาณ 10,000 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ซึ่งไม่พบความเป็นพิษในหนูทดลอง(16)

ถึงแม้ยังไม่พบข้อมูลความเป็นพิษในมนุษย์จากการรับประทานเมล็ดผักชีล้อมแต่แนะนำถ้าไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ไม่ควรรับประทานเกิน 7 กรัมต่อวัน(สกัดโดยวิธีแช่ในน้ำร้อน หรือ infusion)ในกรณีรับประทานติดต่อกันหลายสัปดาห์(17)  ทั้งนี้เนื่องจากสารสำคัญในเมล็ดผักชีล้อมบางตัวถ้ารับประทานในปริมาณมากจะก่อให้เกิดผลเสียได้ ซึ่งได้แก่ แอสตราโกล(estragole) และอะนีโทล(anethole)


ที่มา
  1. He, W.; Huang, B. A review of chemistry and bioactivities of medicinal spice: Foeniculum vulgare. J. Med. Plants Res. 2011, 5, 35953600.
  2. Shahat, A. A., Ibrahim, A. Y., Hendawy, S. F., Omer, E. A., Hammouda, F. M., Abdel-Rahman, F. H., & Saleh, M. A. (2011). Chemical composition, antimicrobial and antioxidant activities of essential oils from organically cultivated fennel cultivars. Molecules, 16(2), 1366-1377.
  3. Rather, M. A., Dar, B. A., Sofi, S. N., Bhat, B. A., & Qurishi, M. A. (2012). < i> Foeniculum vulgare</i>: A Comprehensive Review of Its Traditional Use, Phytochemistry, Pharmacology, and Safety. Arabian Journal of Chemistry.
  4. Taie, H. A., Helal, M. M., Helmy, W. A., & Amer, H. (2013). Chemical Composition and Biological Potentials of Aqueous Extracts of Fennel (Foeniculum vulgare L). Journal of Applied Sciences Research, 9(3).
  5. Esquivel-Ferriño, P. C., Favela-Hernández, J. M. J., Garza-González, E., Waksman, N., Ríos, M. Y., & Camacho-Corona, M. D. R. (2012). Antimycobacterial Activity of Constituents from Foeniculum vulgare Var. Dulce Grown in Mexico. Molecules, 17(7), 8471-8482.
  6. FAN, Q., Mutalifu, Z., Yiming, A., FENG, Z., & GAN, Z. M. (2011). Effects of foeniculum vulgare mill on liver hepatic fibrosis and lipid peroxidation in rats.Journal of Xinjiang Medical University, 9, 011.
  7. Khazaei, M., Montaseri, A., Khazaei, M. R., & Khanahmadi, M. (2011). Study of Foeniculum vulgare effect on folliculogenesis in female mice. Int J Fertil Steril, 5(3), 122-127.
  8. Choi, E. M., & Hwang, J. K. (2004). Antiinflammatory, analgesic and antioxidant activities of the fruit of< i> Foeniculum vulgare</i>. Fitoterapia,75(6), 557-565.
  9. El-Soud, N. A., El-Laithy, N., El-Saeed, G., Wahby, M. S., Khalil, M., Morsy, F., & Shaffie, N. (2011). Antidiabetic activities of Foeniculum vulgare Mill. essential oil in streptozotocin-induced diabetic rats. Macedonian Journal of Medical Sciences, 4(2), 139-146.
  10. Ebeed, N. M., Abdou, H. S., Booles, H. F., Salah, S. H., Ahmed, E. S., & Fahmy, K. H. (2010). Antimutagenic and chemoprevention potentialities of sweet fennel (Foeniculum vulgare Mill.) hot water crude extract. J Am Sci, 6(9), 831-842.
  11. Tripathi, P., Tripathi, R., Patel, R. K., & Pancholi, S. S. (2013). Investigation of antimutagenic potential of Foeniculum vulgare essential oil on cyclophosphamide induced genotoxicity and oxidative stress in mice. Drug and Chemical Toxicology, 36(1), 35-41.
  12. Koppula, S., & Kumar, H. (2013). Foeniculum vulgare Mill (Umbelliferae) Attenuates Stress and Improves Memory in Wister Rats. Tropical Journal of Pharmaceutical Research, 12(4), 553-558.
  13. Birdane, F. M., Cemek, M., Birdane, Y. O., Gulcin, I., & Buyukokuroglu, M. E. (2007). Beneficial effects of Foeniculum vulgare on ethanol-induced acute gastric mucosal injury in rats. World Journal of Gastroenterology, 13(4), 607.
  14. Mishra, B., Sarkar, D., Srivastava, S., & Deepthi, S. (2013). FUNCTIONAL NATURAL INGREDIENTS FOR IRRITABLE BOWEL SYNDROME.International Journal of Bioassays, 2(1), 338-340.
  15. กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม. ไม่ระบุปีที่พิมพ์และสำนักพิมพ์. สืบค้นจาก: www.kmitl.ac.th/.../ตำราแพทย์แผนโบราณ [11 ธันวาคม 2556]
  16. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.
  17. Fructus Foeniculi (2007).WHO Monographs on Selected Medicinal Plants.  Vol 3:136-150

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อบเชยจีนสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

อบเชยจีน(Cassia)

ชื่อวงศ์(Family name) : Lauraceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum Cassia Presl.

เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน และมีการปลูกแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียทางใต้ และตะวันออก เช่นประเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ลาว ไต้หวัน และเวียดนาม(1)

อบเชยจีนเป็นหนึ่งในเครื่องเทศสกุล Cinnamomum ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันกับเครื่องเทศซินนามอน(Cinnamon) หรือ อบเชย(ที่นิยมใส่ในกาแฟ โกโก้ หรือ ขนมอบบางชนิด) โดยอบเชย หรือ ซินนามอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum Zeylanicum  ซึ่งในต่างประเทศมีการเรียกอบเชยจีนว่า Cinnamon มากกว่าใช้คำว่า Cassia

อบเชยจีนได้ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณของจีน โดยเป็นสมุนไพร 1 ใน 50 สมุนไพรพื้นฐานของจีน(1)

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในเปลือกอบเชยจีน(2)

ซินนามัลดีไฮด์(Cinnamaldehyde) 2.82-0.92%, กรดซินนามิก(Cinnamic acid) 0.15-0.03% และอื่นๆ เช่น ซินนามิลอัลกอฮอล์(Cinnamyl alcohol)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค

ต้านเบาหวาน

คุณสมบัติเด่นของอบเชยจีนคือความสามารถในการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยมีการศึกษามากมายที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าสามารต้านโรคเบาหวานได้ เช่นมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบไม่พึ่งอินซูลิน(non insulin dependent diabetes mellitus:NIDDM) หรือผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่2 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 6 กลุ่ม 3 กลุ่มแรกได้รับอบเชยจีนในปริมาณ 1, 3 และ 6 กรัม ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือได้รับยาหลอก(Placebo) เป็นเวลา 40 วัน พบว่าทั้ง 3 กลุ่มที่ได้รับอบเชยจีนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 18-29% ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกไม่มีการเปลี่ยนแปลง(3)  เช่นเดียวกับอีกการศึกษาหนึ่งคือ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มทดลองได้รับอบเชยจีนในปริมาณวันละ 8 กรัม เป็นเวลา 40 วัน ส่วนอีกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม พบว่ากลุ่มทดลองมีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหลังอดอาหาร 8 ชม.(Fasting blood sugar) และหลังมื้ออาหาร(Post prandial blood sugar)อย่างมีนัยสำคัญ(ตามตารางด้านล่าง) ส่วนกลุ่มควบคุมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ(4)


เริ่มต้น
20 วัน
40 วัน
ระดับน้ำตาลภายหลังอดอาหาร 8 ชม.(mg/dl)
148.73
134.0
120.66
ระดับน้ำตาลภายหลังมื้ออาหาร(mg/dl)
187.66
172.93
163.6


ต้านอักเสบ

สารสกัดอบเชยจีนด้วยน้ำมีคุณสมบัติในการต้านอักเสบที่เกิดจากการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช่นการแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง(passive cutaneous anaphylaxis), หลอดเลือดอักเสบที่ผิวหนัง(cutaneous vasculitis), ภาวะไตอักเสบ(nephrotoxic serum nephritis), การอักเสบบวมแดงเฉพาะที่(arthus reaction)(5) ซึ่งกลไกในการต้านอักเสบส่วนหนึ่งอาจมาจากความสามารถในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ของเซลล์ภูมิคุ้มกัน(6)

ต้านอนุมูลอิสระ

สารสำคัญในอบเชยจีนมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูง(7)

ต้านมะเร็ง

  • มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการตาย(Apoptosis)ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว(5), มะเร็งปากมดลูก(8)
  • มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งได้แก่ เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งผิวหนัง(5)
  • สามารถยับยั้งการเจริญ(Antiproliferative) และกระตุ้นการตายเซลล์มะเร็งตับ(9)


ต้านแผลในกระเพาะอาหาร

พบว่าสามารถบรรเทาการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในหนูทดลองซึ่งกลไกการทำงานยังไม่แน่ชัดแต่อาจเกี่ยวข้องกับการหลั่งเมือกของกระเพาะที่ถูกกระตุ้นโดยเซโรโทนิน(5)

ลดระดับไขมัน และคลอเรสเตอรอลในเลือด

จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถเพิ่มคลอเรสเตอรอลชนิดที่ดี(HDL) และลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้ และจากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานพบว่านอกจากจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วยังช่วยปรับระดับไขมันต่างในเลือดให้ดีขึ้นโดยลดระดับคลอเรสเตอรอลรวม คอลเรสเตอรอลชนิดเลว(LDL) และไตรกลีเซอร์ไรด์ได้(5,3)

ต้านจุลชีพ

น้ำมันหอมระเหยในอบเชยจีนมีความสามารถในการต้านจุลชีพได้แก่ แบคทีเรีย(10,11), เชื้อรา และยีสต์(11) และยังสามารถยับยั้งการเจิรญ และกิจกรรมของแบคทีเรีย Helicobactor pyroli ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร(12)

สามารถใช้รักษาโรคบิดเฉียบพลันได้โดยจากการศึกษาในประเทศจีนให้ผู้ป่วยรับประทานอบเชยจีน 1.2-1.5 กรัม ติดต่อกัน 2 ครั้งโดยแต่ละครั้งห่างกัน 1 ชม. และหลังจากนั้นให้รับประทานอีกติดต่อกัน 3 ครั้งโดยครั้งนี้ห่างกัน 2 ชม.(15)

ต้านไวรัส

จากการศึกษาพืชสมุนไพรที่ใช้ในอินเดีย 69 ชนิดพบว่าสารสกัดจากเปลือกอบเชยจีน(Cinnamomum cassia) และผลโคกกระออม(Cardiospermum helicacabumมีความสามารถในการต้านไวรัส HIV ได้ดีที่สุด(13) และยังมีคุณสมบัติในการต้านไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่(14)

ต้านซึมเศร้า และช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง(5)


ลดความดันโลหิต(5)


การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ

อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน บำรุงธาตุไฟในระบบไต ม้าม หัวใจ และตับ(2) มักใช้ในการรักษาโรคหวัด, ลดไข้, ท้องเสีย, โรคอาหารไม่ย่อย(dyspepsia), โรคกระเพราะอาหารอักเสบ(gastritis), เลือดไหลเวียนไม่ดี และโรคที่มีการอักเสบต่างๆ(5,9)

การแพทย์แผนจีนใช้ 1-4.5 กรัม ต้มน้ำดื่ม(15)

ความเป็นพิษ

อบเชยจีนจัดเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัยถ้ารับประทานในปริมาณที่ใช้ในอาหาร อาหารเสริม หรือยาสมุนไพร แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมากๆ หรือไม่ได้รับประทานตามคำแนะนำจากฉลาก หรือ แพทย์ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางคน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับตับเนื่องจากในอบเชยจีนมีสารคูมาริน(Coumarin) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ

คูมารินแท้จริงแล้วจัดเป็นยาและมีการใช้รักษาในผู้ป่วย เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อ อาการบวมน้ำ และโรคอ่อนเพลียเรื้อรังเป็นต้น ปริมาณการใช้มีตั้งแต่ 25 มก. ไปจนถึง 2000 มก.(2กรัม) ต่อวัน ซึ่งพบว่าเกิดผลเสียต่อตับบ้างในผู้ป่วยบางร้าย เช่นจากการใช้คูมารินให้ผู้ป่วยในปริมาณ 100 มก.ต่อวันเป็นเวลา 1 เดือน แล้วตามด้วย 50 มก. เป็นเวลา 2 ปีพบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ตับ 0.37% (16)

สำหรับเปลือกอบเชยจีนจะมีปริมาณคูมารินอยู่ประมาณ 0.26-0.03%(2)  ถ้าคำนวณที่ปริมาณการใช้คูมารินเป็นยาที่ 50 มก. จะเทียบเท่ากับอบเชยจีนปริมาณ 19-170 กรัม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการได้รับในปริมาณนี้ในระยะเวลายาวๆอาจมีปัญหาต่อตับได้ แต่อย่างไรก็ดีปริมาณข้างต้นเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูงกว่าปริมาณที่ใช้ในอาหาร หรือยาสมุนไพรทั่วไป

เนื่องจากคูมารินสามารถพบได้ในอบเชย(ทั้งซินนามอน และอบเชยจีน) เพื่อเป็นแนวทางในการไม่ให้ได้รับคูมารินมากเกินไปองค์การความปลอดภัยของอาหารยุโรป(European Food Safety Authority) ได้กำหนดปริมาณที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน(Tolerable Daily Intake: TDI)ในระยะยาว(ตลอดชีวิต) ของคูมาริน คือ 0.1 มก.ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก.(17) ถ้าลองคำนวณที่น้ำหนักตัว 50 กก. หมายความว่าจะสามารถรับคูมารินได้ที่ 5 มก.ต่อวัน ซึ่งจะมาจากเปลือกอบเชยจีนประมาณ 2-17 กรัม ซึ่งเป็นช่วงปริมาณที่ใช้ในอาหาร อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรตามปรกติ

ค่า LD50 ในการให้สารซินนามิกอัลดีไฮด์ทางปากกับหนูคือ 2225 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.(2)

ค่า LD 50 ในการให้สารสกัดด้วยน้ำทางปากกับหนูถีบจักรโดยมีปริมาณเทียบเท่าผงยาคือ 120 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.(15)

หมายเหตุ LD50 ปริมาณสารที่ทำให้สัตว์ทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งตาย

ท้ายนี้ขอกล่าวว่าสมุนไพรเป็นพืชที่มีสรรพคุณในทางยาในการเลือกรับประทานขอให้เลือกรับประทานจากแหล่งที่มีการรับรองจากองค์การอาหารและยา หรือ กระทรวงสาธารณสุข และควรรับประทานตามคำแนะนำตามฉลาก หรือควรศึกษาข้อมูล และปรึกษาผู้เชียวชาญเฉพาะด้านก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย

ที่มาของข้อมูล
  1. Wikipedia. (2013). Cinnamomum Cassia (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Cinnamomum_cassia
  2. Nguyen Kim Dao, (2003). Chinese Cassia. In Cinnamon and Cassia: The Genus Cinnamomum (ed. P. N. Ravindran, K Nirmal-Babu, M Shylaja) pp. 156-184. CRC Press.
  3. Khan, A., Safdar, M., Khan, M. M. A., Khattak, K. N., & Anderson, R. A. (2003). Cinnamon improves glucose and lipids of people with type 2 diabetes.Diabetes care, 26(12), 3215-3218.
  4. Soni, R., & Bhatnagar, V. (2009). Effect of Cinnamon (Cinnamomum Cassia) intervention on Blood Glucose of Middle Aged Adult Male with Non Insulin Dependent Diabetes Mellitus (NIDDM). Studies on Ethno-Medicine, 3(2), 141-144.
  5. Shen, Y., Jia, L. N., Honma, N., Hosono, T., Ariga, T., & Seki, T. (2012). Beneficial Effects of Cinnamon on the Metabolic Syndrome, Inflammation, and Pain, and Mechanisms Underlying These Effects-A Review. Journal of Traditional and Complementary Medicine, 2(1), 27.
  6. Lee, H. S., Kim, B. S., & Kim, M. K. (2002). Suppression effect of Cinnamomum cassia bark-derived component on nitric oxide synthase. Journal of agricultural and food chemistry, 50(26), 7700-7703.
  7. Jang, H. D., Chang, K. S., Huang, Y. S., Hsu, C. L., Lee, S. H., & Su, M. S. (2007). Principal phenolic phytochemicals and antioxidant activities of three Chinese medicinal plants. Food chemistry, 103(3), 749-756.
  8. Koppikar, S. J., Choudhari, A. S., Suryavanshi, S. A., Kumari, S., Chattopadhyay, S., & Kaul-Ghanekar, R. (2010). Aqueous cinnamon extract (ACE-c) from the bark of Cinnamomum cassia causes apoptosis in human cervical cancer cell line (SiHa) through loss of mitochondrial membrane potential. BMC cancer, 10(1), 210.
  9. Ng, L. T., & Wu, S. J. (2011). Antiproliferative activity of Cinnamomum cassia constituents and effects of pifithrin-alpha on their apoptotic signaling pathways in Hep G2 cells. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine,2011.
  10. Chaudhry, N. M. A., & Tariq, P. E. R. W. E. E. N. (2006). Anti-microbial activity of cinnamomum cassia against diverse microbial flora with its nutritional and medicinal impacts. Pakistan Journal of Botany, 38(1), 169.
  11. Ooi, L. S., Li, Y., Kam, S. L., Wang, H., Wong, E. Y., & Ooi, V. E. (2006). Antimicrobial activities of cinnamon oil and cinnamaldehyde from the Chinese medicinal herb Cinnamomum cassia Blume. The American journal of Chinese medicine, 34(03), 511-522.
  12. Tabak, M., Armon, R., & Neeman, I. (1999). Cinnamon extracts’ inhibitory effect on< i> Helicobacter pylori</i>. Journal of ethnopharmacology, 67(3), 269-277.
  13. Premanathan, M., Rajendran, S., Ramanathan, T., Kathiresan, K., Nakashima, H., & Yamamoto, N. (2000). A survey of some Indian medicinal plants for anti-human immunodeficiency virus (HIV) activity. The Indian journal of medical research, 112, 73.
  14. Hayashi, K., Imanishi, N., Kashiwayama, Y., Kawano, A., Terasawa, K., Shimada, Y., & Ochiai, H. (2007). Inhibitory effect of cinnamaldehyde, derived from Cinnamomi cortex, on the growth of influenza A/PR/8 virus< i> in vitro</i> and< i> in vivo</i>. Antiviral research, 74(1), 1-8.
  15. กรมพัฒณาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, (2551). อบเชยจีน. ใน คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. (เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, บรรณาธิการ). หน้า 206-208. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิม องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
  16. European Food Safety Authority. (2008). Coumarin in flavourings and other food ingredients with flavouring properties. The EFSA Journal 793, 1-15
  17. AFC, 2004; AFC; Opinion of the scientific panel on food additives,flavourings, processing aids and materials in contact with food (AFC) on a request from the Commission related to Coumarin. EFSA Journal, 104 (2004), pp. 1–36.