ผักชีล้อม(fennel)
ชื่อวงศ์(Family name) : Umbelleriferae
(APIACEAE)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Foeniculum vulgare Mill ( Oenanthe stolonifera Wall.)
ผักชีล้อม หรือ
เฟนเนล หรือ ยีหร่าฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดแถบยุโรปใต้ และเมดิเตอร์เรเนียน
ปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นถึงร้อน
เป็นพืชที่มีการนำไปใช้ทั้งเป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร
และการรักษาแผนโบราณ
โดยใบสามารถใช้รับประทานสดควบคู่กับอาหารซึ่งกลิ่นหอมฉุนที่เป็นลักษณะเฉพาะจึงช่วยในการเสริมรสชาติอาหาร
หรือใช้กลบกลิ่นคาวของอาหารได้ ส่วนเมล็ดจะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสรรพคุณทางยาจึงมีการนำไปใช้ในการรักษาแผนโบราณ
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในเมล็ดผักชีล้อม
เมล็ดผักชีล้อมมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบประมาณ
3% ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบหลักได้แก่
อะนีโทล(anethole),
เอสตราโกล(estragole),
เฟนโชน(fenchone) ลิโมนีน(limonene) และ อัลฟาไพนีน(α-pinene) ซึ่งปริมาณสารเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ของผักชีล้อม
เช่นถ้าผักชีล้อมพันธุ์ขมก็จะมีปริมาณเฟนโชน และ อัลฟาไพนีนอยู่สูง ส่วนอนีโทล
และเอสตราโกลจะต่ำซึ่งต่างจากผักชีล้อมพันธุ์หวาน(1,2)
นอกจากน้ำมันแล้วเมล็ดผักชีล้อมยังมีสารประกอบฟินอลิกที่ละลายในน้ำและมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเช่น
กรดคาฟิอิลควินิก(caffeoylquinic acid) กรดโรสมารินิก(rosemarinic acid) เควอซิทิน-3-โอ-กาแลกโตไซด์(quercitin-3-O-galactoside)
แคมฟิรอล-3-โอ-รูติโนไซด์(kaempferol-3-O-rutinoside)
เควอซิทิน(quercitin) และ รูทิน(rutin) เป็นต้น(1)
คุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรค
ต้านอนุมูลอิสระ
ทั้งน้ำมันหอมระเหย
และสารประกอบฟินอลิกในเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ(1,2,3)
สารสกัดด้วยน้ำของเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ(4)
ต้านจุลชีพ
น้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย
และรา(1,2,3)
สารสกัดด้วยน้ำมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย
เช่น Helicobactor pyroli (3) และไวรัส(4)
มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากผักชีล้อมสามารถต้านเชื้อวัณโรค
M. tuberculosis
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานผักชีล้อมเป็นประจำอาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคได้(5)
ต้านการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด(antithrombotic
activity)
อะนีโทล
สารสำคัญน้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการลดการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด(3)
ปกป้องตับ
มีการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมสามารถป้องกันพิษจากคาร์บอนเตตระคอลไรด์จากการทำลายตับได้(1,3)
และจากนี้ยังพบว่าสามารถยับยั้งการเกิดตับอักเสบได้โดยการยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันที่ตับ(6)
มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง(estrogenic
activity)
กระตุ้นการมาของรอบเดือน,
บรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน เพิ่มความต้องการทางเพศ
และบรรเทาอาการปวดประจำเดือน(1,3) ซึ่งสารสำคัญในเมล็ดผักชีล้อมที่มีฤทธิ์นี้คืออะนีโทล(3)
จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ในหนูตัวเมียได้(7)
ต้านอักเสบ
สารสกัดด้วยเมทานอลของเมล็ดผักชีล้อมสามารต้านโรคที่เกิดจากการอักเสบแบบเฉียบพลัน
และกึ่งเฉียบพลันได้ รวมถึงภาวะภูมิไวเกิน หรือภูมิแพ้ประเภทที่4(delayed
type hypersensitivity)(3)
บรรเทาปวดอักเสบ
สารสกัดจากเมล็ดผักชีล้อมด้วยเมทานอลมีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวดอักเสบ(8)
ลดระดับน้ำตาลในเลือด
น้ำมันหอมระเหยในเมล็ดผักชีล้อมสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวานให้มีระดับปรกติได้ทั้งนี้อาจเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นของมันทำให้เกิดความสมดุลในการทำงานของร่างกาย(3,9)
ป้องกันมะเร็ง
สารสกัดด้วยเมทานอล
และน้ำมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก(3,4)
ต้านการกลายพันธุ์
และป้องกันมะเร็ง(10,11)
ต้านความเครียด
ปกป้องสมอง ฟื้นฟูความจำ
จากการศึกษาในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความเครียดพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดด้วยน้ำจากเมล็ดผักชีล้อมมีระดับความเครียดน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด
และนอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นพบว่าหนูที่ถูกทำให้เกิดความจำเสื่อมเมื่อได้รับสารสกัดจะฟื้นฟูความจำได้ดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด(12)
ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ
จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำของเมล็ดผักชีล้อมสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยเอทิลอัลกอฮอล์ได้ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการต้านออกซิเดฃั่น(13)
บรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหาร
เมล็ดผักชีล้อมช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน
ได้แก่ช่วยในการขับลม บรรเทาอาการท้องอืด และปวดเกร็งท้อง
นอกจากนี้ยังช่วยในการย่อยอาหาร(14)
การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ
เมล็ดรสหอมร้อนเล็กน้อย
สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ แก้ไอ แก้หอบ บำรุงปอด(14) นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มน้ำนมในหญิงให้นมบุตร (7)
เป็นสมุนไพรหนึ่งในพิกัดตรีพิษจักร
ซึ่งได้แก่ลูกผักชีล้อม ลูกจันทน์ และกระวาน ซึ่งมีสรรพคุณ บำรุงน้ำนม แก้กระษัย
ฆ่าเชื้อคุดทะราด แก้ท้องร่วง(15)
วิธีการทำชาเมล็ดผักชีล้อม
หรือ ชาเฟนเนล
ทุบเมล็ดผักชีล้อมพอแตกเพื่อให้น้ำมันหอมระเหยภายในเมล็ดออกมา
แล้วนำไปใส่ในน้ำร้อน โดยอัตราส่วนคือใช้เมล็ดผักชีประมาณ 1 ช้อนชา (หรือ 2 กรัม)
ต่อน้ำ 1 ถ้วยตวง (หรือ 240 มล.) ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที (ปิดฝาหม้อระหว่างต้ม)
จากนั้นกรองเอาเมล็ดออก ดื่มได้ตามสะดวก เพื่อรสชาติที่ดีขึ้นอาจมีการเติมน้ำผึ้ง
และน้ำมะนาวแล้วแต่ชอบ
Photo CR: www.buzzle.com |
ชาเมล็ดผักชีล้อมมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระจึงใช้ดื่มเพื่อสุขภาพทั่วไป
หรือเพื่อบรรเทาอาการไอ ท้องอืด จุกเสียด ปวดเกร็งท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ และเนื่องจากมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียจึงช่วยระงับกลิ่นปาก
นอกจากนี้จากคุณสมบัติที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง จึงช่วยขับประจำเดือน บรรเทาอาการของสตรีวัยทอง
และเพิ่มน้ำนมหลังคลอด
ไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายฮอรโมนเพศหญิงอาจทำให้แท้งลูกได้
และควรระวังในกรณีใช้ระหว่างการรับประทานยาคุมกำเนิดเนื่องจากอาจไปลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้
ความเป็นพิษ
จากการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของเมล็ดผักชีล้อมที่สกัดด้วยเอทานอล
50% ในหนูทดลองโดยการกรอกปากในปริมาณ
10,000 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ซึ่งไม่พบความเป็นพิษในหนูทดลอง(16)
ถึงแม้ยังไม่พบข้อมูลความเป็นพิษในมนุษย์จากการรับประทานเมล็ดผักชีล้อมแต่แนะนำถ้าไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ไม่ควรรับประทานเกิน
7 กรัมต่อวัน(สกัดโดยวิธีแช่ในน้ำร้อน หรือ infusion)ในกรณีรับประทานติดต่อกันหลายสัปดาห์(17) ทั้งนี้เนื่องจากสารสำคัญในเมล็ดผักชีล้อมบางตัวถ้ารับประทานในปริมาณมากจะก่อให้เกิดผลเสียได้
ซึ่งได้แก่ แอสตราโกล(estragole) และอะนีโทล(anethole)
ที่มา
- He, W.; Huang, B. A review of chemistry and bioactivities of medicinal spice: Foeniculum vulgare. J. Med. Plants Res. 2011, 5, 3595–3600.
- Shahat, A. A., Ibrahim, A. Y., Hendawy, S. F., Omer, E. A., Hammouda, F. M., Abdel-Rahman, F. H., & Saleh, M. A. (2011). Chemical composition, antimicrobial and antioxidant activities of essential oils from organically cultivated fennel cultivars. Molecules, 16(2), 1366-1377.
- Rather, M. A., Dar, B. A., Sofi, S. N., Bhat, B. A., & Qurishi, M. A. (2012). < i> Foeniculum vulgare</i>: A Comprehensive Review of Its Traditional Use, Phytochemistry, Pharmacology, and Safety. Arabian Journal of Chemistry.
- Taie, H. A., Helal, M. M., Helmy, W. A., & Amer, H. (2013). Chemical Composition and Biological Potentials of Aqueous Extracts of Fennel (Foeniculum vulgare L). Journal of Applied Sciences Research, 9(3).
- Esquivel-Ferriño, P. C., Favela-Hernández, J. M. J., Garza-González, E., Waksman, N., Ríos, M. Y., & Camacho-Corona, M. D. R. (2012). Antimycobacterial Activity of Constituents from Foeniculum vulgare Var. Dulce Grown in Mexico. Molecules, 17(7), 8471-8482.
- FAN, Q., Mutalifu, Z., Yiming, A., FENG, Z., & GAN, Z. M. (2011). Effects of foeniculum vulgare mill on liver hepatic fibrosis and lipid peroxidation in rats.Journal of Xinjiang Medical University, 9, 011.
- Khazaei, M., Montaseri, A., Khazaei, M. R., & Khanahmadi, M. (2011). Study of Foeniculum vulgare effect on folliculogenesis in female mice. Int J Fertil Steril, 5(3), 122-127.
- Choi, E. M., & Hwang, J. K. (2004). Antiinflammatory, analgesic and antioxidant activities of the fruit of< i> Foeniculum vulgare</i>. Fitoterapia,75(6), 557-565.
- El-Soud, N. A., El-Laithy, N., El-Saeed, G., Wahby, M. S., Khalil, M., Morsy, F., & Shaffie, N. (2011). Antidiabetic activities of Foeniculum vulgare Mill. essential oil in streptozotocin-induced diabetic rats. Macedonian Journal of Medical Sciences, 4(2), 139-146.
- Ebeed, N. M., Abdou, H. S., Booles, H. F., Salah, S. H., Ahmed, E. S., & Fahmy, K. H. (2010). Antimutagenic and chemoprevention potentialities of sweet fennel (Foeniculum vulgare Mill.) hot water crude extract. J Am Sci, 6(9), 831-842.
- Tripathi, P., Tripathi, R., Patel, R. K., & Pancholi, S. S. (2013). Investigation of antimutagenic potential of Foeniculum vulgare essential oil on cyclophosphamide induced genotoxicity and oxidative stress in mice. Drug and Chemical Toxicology, 36(1), 35-41.
- Koppula, S., & Kumar, H. (2013). Foeniculum vulgare Mill (Umbelliferae) Attenuates Stress and Improves Memory in Wister Rats. Tropical Journal of Pharmaceutical Research, 12(4), 553-558.
- Birdane, F. M., Cemek, M., Birdane, Y. O., Gulcin, I., & Buyukokuroglu, M. E. (2007). Beneficial effects of Foeniculum vulgare on ethanol-induced acute gastric mucosal injury in rats. World Journal of Gastroenterology, 13(4), 607.
- Mishra, B., Sarkar, D., Srivastava, S., & Deepthi, S. (2013). FUNCTIONAL NATURAL INGREDIENTS FOR IRRITABLE BOWEL SYNDROME.International Journal of Bioassays, 2(1), 338-340.
- กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม. ไม่ระบุปีที่พิมพ์และสำนักพิมพ์. สืบค้นจาก: www.kmitl.ac.th/.../ตำราแพทย์แผนโบราณ [11 ธันวาคม 2556]
- มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.
- Fructus Foeniculi (2007).WHO Monographs on Selected Medicinal Plants. Vol 3:136-150
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น