หน้าเว็บ

วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หล่อฮังก้วย เพื่อสุขภาพ

หล่อฮังก้วย (Lou Han Guo)

ชื่อวงศ์                          Cucurbitaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์              Siraitia grosvenorii Swingle หรือ Momordica grosvenorii Swingle


หล่อฮังก้วยเป็นสมุนไพรไม้เลื้อยที่มีถิ่นกำเนินในประเทศจีนทางตอนใต้และทางตอนเหนือของประเทศไทย  หล่อฮังก้วยจะปลูกกันมากในมณฑลกวางสี, กวางตุ้ง, กุยโจว, หูหนาน และ เจียงซีของประเทศจีน   ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือส่วน “ผล”  ผลหล่อฮังก้วยอาจเรียกอีกชื่อว่า ผลอรหันต์ (Buddha fruit หรือ Monk fruit) เนื่องจากคำว่าหล่อฮังในภาษาจีนแปลว่าพระอรหันต์  ในประเทศจีนมีประวัติการใช้ผลหล่อฮังก้วยมานานแต่โบราณนับพันปี  โดยใช้เพื่อปรุงแต่งรสชาติให้มีรสหวานเนื่องจากมีความหวานกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่าและให้พลังงานต่ำ  นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณของจีนในการรักษาที่เกี่ยวกับเลือดคั่งในปอด, ไข้หวัด และเจ็บคอ(1,2,3)

Photo CR: Wikipedia

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในผลหล่อฮังก้วย(2,3,4)

ในผลหล่อฮังก้วยจะอุดมไปด้วยซาโปนินในรูปไตรเตอร์ปีนไกลโคไซด์ (triterpene glycosides) ที่มีชื่อว่าโมโกรไซด์ (mogrosides) ซึ่งมีรสหวานมาก  นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มฟลาวานไดออล (flavandiol) ที่มีชื่อว่า ไซไรทิฟลาวานไดออล (siraitiflavandiol) ซึ่งจะพบในผลสุก  ส่วนในผลดิบนั้นจะพบ 2-Kaempferol glycoside และในผลหล่อฮังก้วยยังมีโพลีแซคคาไรด์ (Siraitia grosvenoriipolysaccharide (SGP)) อีกด้วย

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค

ต้านอนุมูลอิสระ

สารสกัดจากหล่อฮังก้วยสามารถเข้าจัดการกับซุปเปอร์ออกไซด์ และอนุมูลไฮดรอกซีได้ในการศึกษาในหลอดทดลอง และสามารถปกป้องเซลล์สมองของหนูทดลองจากการทำลายของอนุมูลอิสระได้(3)

โมโกรไซด์ที่พบในหล่อฮังก้วยสามารถยับยั้งอนุมูลออกซิเจนอิสระซึ่งได้แก่ ซุปเปอร์ออกไซด์ประจุลบ(O-2), ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) และ อนุมูลไฮดรอกซิล (OH*) จึงสามารถลดการผลิตอนุมูลอิสระภายในเซลล์ และยังสามารถป้องกันการทำลายดีเอ็นเอจากการเกิดออกซิเดชั่นได้(5,6) 

โพลีแซคคาไรด์ที่พบในหล่อฮังก้วย (Siraitia grosvenorii polysaccharide (SGP)) ก็มีคุณสมบัติในการลดการเกิดอนุมูลอิสระเช่นกัน(4)

ต้านเบาหวาน

โมโกรไซด์ที่พบในหล่อฮังก้วยมีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดภายหลังมื้ออาหาร และปรับปรุงค่าการตรวจสอบทางชีวะต่างๆ รวมถึงบรรเทาพยาธิสภาพต่างๆในหนูที่เป็นโรคเบาหวานได้(3,6,7)  นอกจากนี้ยังพบคุณสมบัติในการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของเซลล์ตับอ่อนในการศึกษาในหลอดทดลอง(8)  กลไกในการต้านเบาหวานของโมโกรไซด์นั้นอาจเนื่องจากความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระภายในที่เกิดจากการผลิตของเซลล์ และการเข้าไปควบคุมการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญกูลโคส เช่นเข้าไปกระตุ้นการแสดงออกของเอนไซม์กลุ่ม AMPK เป็นต้น (9,10)

ต้านอักเสบ

สารสกัดจากหล่อฮังก้วยสามารถลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบซึ่งได้แก่ iNOS และ COX-2 ในแมคโครฟาจได้โดยการยับยั้งการกระตุ้น NFkB(11)  เช่นเดียวกับอีกการศึกษาหนึ่งที่พบว่าโมโกรไซด์ในหล่อฮังก้วยสามารถลดการแสดงออกของยีน iNOS, COX-2 และ IL-6 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ และเพิ่มการแสดงออกของยีน PARP1, BCL2l1, TRP53, และ MAPK9 ที่ป้องกันการอักเสบได้(12)

ปรับดุลการทำงานของภูมิคุ้มกัน

โพลีแซคคาไรด์จากหล่อฮังก้วยมีคุณสมบัติในการปรับดุลการทำงานของภูมิคุ้มกันโดยทั้งกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และลดการอักเสบเนื่องจากการทำงานของภูมิคุ้มกัน(4) เช่น

  • เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าจับกินสิ่งแปลกปลอมของแมคโครฟากแต่ก็ลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวกับการอักเสบได้แก่ iNOS และ COX-2 ในแมคโครฟาจ
  • เพิ่มจำนวนลิมโฟซัยท์ทั้ง T-Cell และ B-Cell ในเซลล์ม้าม (splenic lymphocyte) และเพิ่มการผลิตไนตริกออกไซด์ในเซลล์ม้าม และเซลล์ต่อมไทมัส  แต่ก็กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ซุปเปอร์ออกไซด์ไดมิวเตส (SOD) เพื่อทำการกำจัดอนุมูลอิสระ
  • เพิ่มการผลิตไซโตไคน์ชนิด IL-2 ซึ่งกระตุ้นการทำงานและเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันได้แก่ T-Cell, B-Cell และ NK Cell  แต่ก็ลดการผลิตไซโตไคนชนิด IL-1 ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน

ต้านภูมิแพ้

ซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออน (SO-2) ที่เกิดภายในร่างกายเรา สามารถกระตุ้นการหลั่งฮิสตามีนจากเซลล์แมสต์ (mast cell) ได้  จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่สารสกัดจากผลหล่อฮังก้วยสามารถลดการหลั่งฮิสตามีน(สารก่อภูมแพ้)จากเซลล์แมสต์ (mast cell) ทำให้หนูทดลองลดอาการถูไถและเกาเนื่องจากคันได้  ซึ่งกลไกในการลดการหลั่งฮิสตามีนจากเซลล์แมสต์นั้นอาจมาจากความสามารถในการเข้าจับกับซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออนที่เป็นตัวกระตุ้นการหลั่งฮิสตามีน(13)

ต้านแบคทีเรีย

ในหล่อฮังก้วยมีสารประกอบที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งกิจกรรมของแบคทีเรีย โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของ Streptococcus mutans (แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ) ซึ่งคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโมโกรไซด์ที่พบในหล่อฮั้งก้วย แต่เป็นสารประกอบอื่น(14)  และต่อมามีอีกการศึกษาหนึ่งที่พบว่าสารกลุ่มฟลาวานไดออล (flavandiol) ที่มีชื่อว่า ไซไรทิฟลาวานไดออล (siraitiflavandiol) ที่พบในผลสุกของหล่อฮังก้วยมีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก Streptococcus mutans, Porphyromonas gingivalis รวมถึงยีสต์ Candida albicans ได้(15)

ต้านมะเร็ง

โมโกรไซด์ในผลหล่อฮังก้วยมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก  โดยมีการศึกษาในหนูทดลองที่มีการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งผิวหนังแบบกระตุ้น 2 ซ้ำ(two stage skin carcinogenesis)  พบว่าหนูที่ได้รับโมโกรไซด์จะมีอุบัติการเกิด papilloma (เยื้อบุเนื้องอก) น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด  ซึ่งแสดงให้เห็นคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งจากสารเคมีก่อมะเร็งของโมโกรไซด์จากผลหล่อฮังก้วย(16)

ต้านโรคอ้วน

โมโกรไซด์ในผลหล่อฮังก้วยสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไลเปสจากตับอ่อนจึงเป็นผลให้หยุดการเพิ่มน้ำหนัก และการสะสมไขมัน และระดับไขมันในเลือดลดลงในหนูทดลองที่ให้กินอาหารอุดมไปด้วยไขมัน(17)

ลดความเหนี่อยล้า (anti fatigue)

มีการศึกษาในหนูทดลองที่บังคับให้ว่ายน้ำแล้วนำมาตรวจวัดค่าความเหนื่อยล้าต่างๆ เช่น ค่ากรดแลกติก และปริมาณไนโตรเจนในเลือด และปริมาณไกลโคเจนในตับและกล้ามเนื้อเป็นต้น พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากหล่อฮังก้วยจะสามารถว่ายน้ำได้นานกว่า และจะมีการสะสมไกลโคเจนที่ตับและกล้ามเนื้อมากกว่าในขณะที่มีปริมาณกรดแลกติกและไนโตรเจนในเลือดลดลง(18)  ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นที่น่าสนใจในการนำไปใช้ในวงการกีฬา

การศึกษาความเป็นพิษ

ในการศึกษาความเป็นพิษในหนูทดลองของสารสกัดจากผลหล่อฮังก้วยในปริมาณ 2520  และ 3200 มก.ต่อน้ำหนักตัวหนักตัว 1 กก. ต่อวันในหนูตัวผู้และตัวเมียตามลำดับเป็นเวลา 13 สัปดาห์  ไม่พบความเป็นพิษหรือผลข้างเคียงใดๆในสัตว์ทดลอง  ซึ่งจากการศึกษานี้ได้แนะนำว่าสามารถรับประทานหล่อฮังก้วยในลักษณะอาหารได้  แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษแบบเรื้อรังที่ชัดเจนซึ่งคงต้องมีการศึกษาอีกต่อไปเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค(19,20)  
ทางองค์การอาหารและยาของไทยได้กำหนดปริมาณที่อนุญาติให้ใช้ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทให้ไม่เกิน 9 กรัมต่อวัน(21)

หล่อฮังก้วยเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยโดยสามารถนำไปใช้ให้รสหวานแทนน้ำตาลปรกติได้  ซึ่งนอกจากจะลดพลังงานในอาหารหรือเครื่องดื่มแล้ว  แถมยังได้ประโยชน์จากพฤกษเคมีที่อยู่ในผลของมันด้วย

การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ

การแพทย์แผนจีนจะนำผลของหล่อฮังก๊วยไปตากแห้ง หรือลนไฟจนแห้ง จากนั้นจะทำการเคาะหากใช้ได้จะมีเสียงกังวาน  สามารถนำมาต้มหรือผสมกับจับเลี้ยงเพื่อปรุงเครื่องดื่มแก้ร้อนในได้ 
สรรพุคณ คือ บรรเทาอาการไอ เสียงแหบแห้ง บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ และโรคทางเดินหายใจ  แก้ปัญหาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร  บำรุงระบบทางเดินอาหารช่วงล่าง เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่ไม่มีแรงบีบตัว และอาการทวารหย่อนเป็นต้น(22)

ที่มา
  1. Wikipedia. (2014). Siraitia grosvenorii (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Siraitia_grosvenorii (June 26, 2014)
  2. Jin, J. S., & Lee, J. H. (2012). Phytochemical and pharmacological aspects of Siraitia grosvenorii, luo han kuo. Oriental Pharmacy and Experimental Medicine,12(4), 233-239.
  3. Kamei, C., & Sugiura, M. (2005). New pharmacological functions of Luo Han Guo. Foods and Food Ingredients Journal of Japan, 210(3), 244.
  4. Zhang, L., Hu, T. J., & Lu, C. N. (2013). Immunomodulatory and antioxidant activity of a Siraitia grosvenorii polysaccharide in mice. African Journal of Biotechnology, 10(49), 10045-10053.
  5. Chen, W. J., Wang, J., Qi, X. Y., & Xie, B. J. (2007). The antioxidant activities of natural sweeteners, mogrosides, from fruits of Siraitia grosvenori.International journal of food sciences and nutrition, 58(7), 548-556.
  6. Suzuki, Y. A., Tomoda, M., Murata, Y., Inui, H., Sugiura, M., & Nakano, Y. (2007). Antidiabetic effect of long-term supplementation with Siraitia grosvenori on the spontaneously diabetic Goto–Kakizaki rat. British journal of nutrition,97(04), 770-775.
  7. ZHENG, C., TANG, J. L., YANG, D. Y., & TANG, L. (2011). Effects of Total Flavonoids in Momordica grosvenori on Hyperglycemia Rat During Streptozotocin Diabetes [J]. Chinese Journal of Experimental Traditional Medical Formulae, 22, 059.
  8. Zhou, Y., Zheng, Y., Ebersole, J., & Huang, C. F. (2009). Insulin secretion stimulating effects of mogroside V and fruit extract of luo han kuo (Siraitia grosvenori Swingle) fruit extract. Yao Xue Xue Bao, 44, 1252-1257.
  9. Xu, Q., Chen, S. Y., Deng, L. D., Feng, L. P., Huang, L. Z., & Yu, R. R. (2013). Antioxidant effect of mogrosides against oxidative stress induced by palmitic acid in mouse insulinoma NIT-1 cells. Brazilian Journal of Medical and Biological Research, (AHEAD), 000-000.
  10. Chen, X. B., Zhuang, J. J., Liu, J. H., Lei, M., Ma, L., Chen, J., ... & Hu, L. H. (2011). Potential AMPK activators of cucurbitane triterpenoids from< i> Siraitia grosvenorii</i> Swingle. Bioorganic & medicinal chemistry, 19(19), 5776-5781.
  11. Pan, M. H., Yang, J. R., Tsai, M. L., Sang, S., & Ho, C. T. (2009). Anti-inflammatory effect of< i> Momordica grosvenori</i> Swingle extract through suppressed LPS-induced upregulation of iNOS and COX-2 in murine macrophages. Journal of functional foods, 1(2), 145-152.
  12. Di, R., Huang, M. T., & Ho, C. T. (2011). Anti-inflammatory activities of mogrosides from Momordica grosvenori in murine macrophages and a murine ear edema model. Journal of agricultural and food chemistry, 59(13), 7474-7481.
  13. Hossen, M. A., Shinmei, Y., Jiang, S., Takubo, M., Tsumuro, T., Murata, Y., ... & Kamei, C. (2005). Effect of Lo Han Kuo (Siraitia grosvenori Swingle) on nasal rubbing and scratching behavior in ICR mice. Biological and Pharmaceutical Bulletin, 28(2), 238-241.
  14. Ying, H. O. U., & Bai, G. U. O. Identification of the Antibacterial Activity from Lo Han Kuo Fruit.
  15. Zheng, Y., Liu, Z., Ebersole, J., & Huang, C. B. (2009). A new antibacterial compound from Luo Han Kuo fruit extract (Siraitia grosvenori). Journal of Asian natural products research, 11(8), 761-765.
  16. Takasaki, M., Konoshima, T., Murata, Y., Sugiura, M., Nishino, H., Tokuda, H., ... & Yamasaki, K. (2003). Anticarcinogenic activity of natural sweeteners, cucurbitane glycosides, from< i> Momordica grosvenori</i>. Cancer letters,198(1), 37-42.
  17. Sun, B. S., Chen, Y. P., Wang, Y. B., Tang, S. W., Pan, F. Y., Li, Z., & Sung, C. K. (2012). Anti-obesity effects of mogrosides extracted from the fruits of Siraitia grosvenorii (Cucurbitaceae). African Journal of Pharmacy and Pharmacology, 6(20), 1492-1501.
  18. Liu, D. D., Ji, X. W., & Li, R. W. (2013). Effects of Siraitia grosvenorii Fruits Extracts on Physical Fatigue in Mice. Iranian journal of pharmaceutical research: IJPR, 12(1), 115.
  19. Jin, M., Muguruma, M., Moto, M., Okamura, M., Kashida, Y., & Mitsumori, K. (2007). Thirteen-week repeated dose toxicity of< i> Siraitia grosvenori</i> extract in Wistar Hannover (GALAS) rats. Food and chemical toxicology, 45(7), 1231-1237.
  20. Hong, Z., & Xiaohong, L. (2011). Research Advance of Pharmacological Effects and Toxicity of Siraitia grosvenorii (Swingle) C. Jeffrey [J]. Chinese Agricultural Science Bulletin, 5, 085.
  21. กองควบคุมอาหาร. (2552). บัญชีพืชที่อนุญาติให้ใช้ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  22. วิกิพีเดีย.(2557). หล่อฮังก๊วย (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/หล่อฮังก๊วย(27 มิถุนายน 2557)


วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ชะเอมเทศ เพื่อสุขภาพ

ชะเอมเทศ (Licorice)

ชื่อวงศ์                          Fabaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์              Glycyrrhiza glabra L.

ชะเอมเทศเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศแถบเมดิเตอร์ริเนียน ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชีย  ซึ่งจะมีปลูกในประเทศ อิตาลี, รัฐเซีย, ฝรั่งเศษ, อังกฤษ, อเมริกา, เยอรมัน, จีน และทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย(1)


รากของชะเอมเทศจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการนำไปใช้ในการป้องกัน หรือรักษาโรค  โดยรากของมันจะมีรสหวานชุ่มคอจึงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบในยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณพื้นบ้านอื่นๆซึ่งได้แก่ ขับลม บำรุงร่างกาย แก้คัน ขับเลือดเน่า ช่วยให้ผ่อนคลาย จิตใจสดชื่น(2)

ที่มาภาพ Vibha, et al. (2009)

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในรากชะเอมเทศ(1,3, 4)

สารกลุ่มไตรเตอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อว่า กลีซีร์ริซิน (Glycyrrhizin)  ซึ่งเป็นซาโปนินที่มีรสหวานกว่าน้ำตาล 60 เท่า  เมื่อเราได้รับไกลซีไรซินเข้าไปทางปาก กรดกลีซีร์ริซิก (Glycyrrhizic acid) จะถูกแบคทีเรียในลำไส้เล็กจะทำให้แตกตัวกลายเป็นกรดไกลซีรีติก (Glycyrrhetic acid)  ส่วนไตรเตอร์ปีนอื่นๆที่พบได้แก่ liquiritic acid, glycyrretol, glabrolide, isoglaborlide และ licorice acid

ฟลาโวนอยด์ ได้แก่ liquiritin, rhamnoliquiritin, neoliquiritin, liquiritigenin, chalcones isoliquiritin, isoliquiritigenin, neoisoliquiritin, licuraside, glabrolide, licochalcone A และ licoflavonol เป็นต้น

ไอโซฟลาโวน ได้แก่ glabridin, galbrene, glabrone, shinpterocarpin, licoisoflavones A และ B, formononetin, glyzarin, kumatakenin และ kanzonol R เป็นต้น

สารประกอบที่ระเหยได้ ได้แก่ pentanol, hexanol, linalool oxide A และ B, tetramethyl pyrazine, terpinen-4-ol,  α-terpineol และ geraniol เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกัน และรักษาโรค(1,3,4, 5)

ต้านไวรัส
คุณสมบัติการต้านไวรัสถือเป็นคุณสมบัติเด่นของสารสกัดจากรากชะเอมเทศ จากรายงานที่ผ่านมาพบว่าสารสกัดจากรากชะเอมสามารถต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น HIV-1, ไวรัสไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis), ไวรัสไข้เหลือง, ไวรัสซาร์ (SARS), ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสตับอักเสบ, ไวรัสวัคซีเนีย (vaccinia virus)ที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษ, ไวรัสโรคเริม (HSV-1), ไวรัสโรคงูสวัด (herpes zoster virus) และ ไวรัสโรคปากอักเสบผุผอง (vesicular stomatitis virus) เป็นต้น

ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค
สารสกัดจากรากชะเอมสามารถยั้บยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายสายพันธุ์ทั้งแกรมบวก และแกรมลบ เช่น Salmonella typhi(โรคไข้ไทฟอยด์), enterotoxigenic E. coli (ETEC E. coli) (อาหารเป็นพิษ), Staphylococcus aureus (อาหารเป็นพิษ) และ Streptococcus pyogenes (โรคไข้รูมาติก) เป็นต้น

กลไกในการต้านไวรัสของสารสกัดจากรากชะเอมเทศนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สันนิฐานว่าน่าจะมาจากการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการจัดการไวรัสต่างๆได้ดีขึ้น

ต้านเชื้อยีสต์ และรา
Glabridin ฟลาโวนอยด์ที่พบในรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อยีสต์และราเช่น เชื้อราแคนดิดา (Candida albicans)  และยังสามารถยั้บยั้งเชื้อราแคนดิดาสายพันธุ์ที่ดื้อยาได้อีกด้วย

ต้านโปรโตซัว
Licochalcone A ฟลาโวนอยด์ที่พบในรากชะเอมเทศสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อไข้มาเลเรีย (Plasmodium falciparum) ได้

ต้านออกซิเดชั่น และอนุมูลอิสระ
สารสกัดจากรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการเข้าจับกับอนุมูลไนตริกออกไซด์, ซุปเปอร์ออกไซด์, ไฮดรอกซิลได้ และเหล็กอิสระได้  จึงสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นภายในร่างกาย เช่น การออกซิเดชั่นของไขมันในเซลล์หรือเนื้อเยื้อต่างๆ  ซึ่งความสามารถในการต้านออกซิเดชั่นนี้จึงส่งผลให้สารสกัดจากรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการต้านอักเสบได้อีกด้วย

ต้านอักเสบ
เมตาบอไลท์ของกลีซีร์ริซิน (glycyrrhizin) ซึ่งก็คือ กรดเบต้ากลีซิร์ริตินิก (β glycyrrhitinic acid) มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบ  โดยยับยั้งการสลายฮอร์โมนกูลโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทในการต้านอักเสบของร่างกาย  และยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันแบบคอมพลีเมนท์ทางตรง (classical complement pathway) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบได้  นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของยาไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ที่ใช้ในการรักษาการอักเสบ 

กรดกลีซีร์ริซิก (glycyrrhizic acid) ในชะเอมเทศสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (cyclooxygenase) และการผลิตพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ  ซึ่งผลนี้จะส่งผลทางอ้อมในการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือดเนื่องจากการอักเสบได้

ด้วยคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นของกลีซีร์ริซินจึงสามารถเข้าไปจับกับอนุมูลอิสระที่เกิดจากการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม จึงลดการอักเสบลงได้

ทั้งนี้การได้รับสารสกัดจากรากชะเอมเทศไม่ว่าจะในรูปของกลีซีร์ริซิน หรือ เมตาบอไลท์ของมันก็จะให้ผลในการต้านอักเสบเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ฟลาโวนอยด์อื่นๆที่พบในรากชะเอมเทศก็มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบ ซึ่งได้แก่ liquiritoside, glabridin, glyderinine และ lichochalocone A เป็นต้น

ปกป้องตับ
ฟลาโวนอยด์ในรากชะเอมเทศที่มีบทบาทเด่นในการปกป้องตับคือ กลีซีร์ริซิน (glycyrrhizin) โดยมีการศึกษามากมายทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองที่พบว่าสามารถป้องกันตับจากสารเคมี และสารก่อมะเร็งต่างๆได้  ทั้งนี้กลีซีร์ริซินได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีเรื้อรัง (chronic hepatitis C) ในประเทศญี่ปุนมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว  

ยา Stronger Neo-Minophagen C เป็นยามีที่มีกลีซิร์ริซินเป็นส่วนประกอบสำคัญได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคตับอักเสบชนิดซีโดยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีค่าเอนไซม์ที่บ่งชี้ว่าตับถูกทำลายลดลง เอนไซม์เหล่านั้นได้แก่ แอสปาเตททรานซามิเนส (aspartate transaminase), อะลานีนทรานซามิเนส (alanine transaminase) และแกมม่ากูลตามิลทรานส์เฟอเรส (gammaglutamyltransferase)  โดยพบว่าตัวยานี้สามารถลดการอักเสบที่ตับได้แต่ก็มีพบผลข้างเคียงบ้างในบางราย

ลดระดับน้ำตาลในเลือด
อะกลัยโคน (aglycone) ของกลีซีร์ริซิน (glycyrrhizin) ที่ชื่อว่า กรด 18 เบต้ากลีซีร์รีทินิก (18β-glycyrrhetinic acid) สามารถปรับพายธิสภาพต่างๆของหนูทดลองที่เป็นเบาหวานให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นจนเกือบจะเข้าสู่ภาวะปรกติได้

ต้านมะเร็ง
กลีซีร์ริซิน และสารประกอบอื่นๆในรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเซลล์ที่ผิดปรกติ รวมถึงเนื้องอกต่างๆของมะเร็งเต้านม, มะเร็งตับ และมะเร็งผิวหนัง

ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอ
กลีซีร์ริซิน (glychyrrhizin) ในรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการละลายเสมหะ และทำให้ชุ่มคอบรรเทาอาการไอได้

ต้านแผลในกระเพาะอาหาร
กลีซีร์ริซิน (glychyrrhizin) ช่วยเพิ่มการสมานแผลในกระเพาะอาหาร และปกป้องเยื้อบุกระเพาะอาหารจากยาแอสไพริน นอกจากนี้ฟลาโวนอยด์ที่พบในรากชะเอมเทศยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Helicobactor pyroli ซึ่งเป็นเชื่อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

สารสกัดจากชะเอมเทศที่มีการสกัดเอากลีซีร์ริซินออกสามารถเพิ่มการหลั่งของเมือกในกระเพาะอาหาร และช่วยเร่งการสมานแผลในกระเพาะอาหารได้

ปรับสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
จากการศึกษาในหลอดทดลองพบประสิทธิภาพในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยเพิ่มการผลิต ลิมโฟซัยท์ TCD69 และแมคโครฟาจ  นอกจากนี้ยังพบว่ากลีซีร์ริซิน (glychyrrhizin) สามารถลดการผลิตโกลบูลินที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิไวเกินหรือภูมิแพ้

ผลข้างเคียงจากการรับประทานรากชะเอมเทศ(2,3,6)

ถึงแม้ว่ารากชะเอมเทศจะมีคุณสมบัติที่มีประโยชน์มากมายในการป้องกันและรักษาโรค  แต่ก็มีผลข้างเคียงเหมือนกันเนื่องจากสารสกัดในชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการป้องกันการสลายของฮอร์โมนกูลโคคอร์ติคอยด์ทำให้อาจมีการสะสมของฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป ทำให้ร่างกายเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) มีการกักเก็บโซเดียมมากขึ้นจนร่างกายมีน้ำเกิน จึงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และมีอาการบวมน้ำ

จากการทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี 24 คน แบงเปน 4 กลุมใหไดรับสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศในปริมาณ glycyrrhizin ขนาด 108, 217, 308 และ 814 มก. ตามลําดับ เปนเวลา 4 สัปดาห พบวาไมพบอาการขางเคียงใดๆ ในอาสาสมัครกลุมที่ 1 และ 2 แตพบวาอาสาสมัครที่ไดรับ glycyrrhizin ขนาด 814 มก. มีปริมาณโพแทสเซียมในเลือดลดลงอยางตอเนื่องตั้งแตสัปดาหแรกของการทดลอง และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

จากรายงานและผลการทดลองขางตนแสดงใหเห็นวาควรระมัดระวังการรับประทานชะเอมเทศในผูปวยที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีคําเตือนวาไมควรใชชะเอมเทศในขนาดที่มากกวา 50 ก./วัน เกินกวา 6 สัปดาห และควรระวังในการใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ

อย่างไรก็ดีในการนำชะเอมเทศไปใช้ทำเครื่องดื่มทางองค์การอาหารและยาของไทยอนุญาติให้ใช้ไม่เกิน 1.5 กรัมต่อวัน

ที่มา
  1. Parvaiz, M., Hussain, K., Khalid, S., Hussnain, N., Iram, N., Hussain, Z., & Ali, M. A. (2014). A Review: Medicinal Importance of Glycyrrhiza glabra L.(Fabaceae Family). Global Journal of Pharmacology, 8(1), 08-13.
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล. ชะเอมเทศกับความดันโลหิตสูง (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0050.pdf
  3. Vibha, J. B., Choudhary, K., Singh, M., Rathore, M. S., & Shekhawat, N. S. (2009). A study on pharmacokinetics and therapeutic efficacy of Glycyrrhiza glabra a miracle medicinal herb. Bot Res Intl, 2, 157-63.
  4. Jatav, V. S., Singh, S., Khatri, P., & Sharma, A. (2011). Recent pharmacological trends of Glycyrrhiza glabra Linn. Unani Res, 1, 1-11.
  5. Akram, M., Shahab, U., Afzal, A., Khan, U., Abdul, H., Mohiuddin, E., Asif, M., & Ali, S. S. M. (2011). Glycyrrhiza glabra L. (Medicinal use). J Med Plants Res, 5, 5658-5661
  6. กองควบคุมอาหาร. (2552). บัญชีพืชที่อนุญาติให้ใช้ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://newsser.fda.moph.go.th/ossc/tha/data_center/Data/พืชในเครื่องดื่มฯ.pdf