หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บัวบก เพื่อสุขภาพ

บัวบก(Gotu Kola, Asiatic Pennywort, Indian Pennywort)

ชื่อวงศ์(Family Name): Apiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์  Centella asiatica L.
Photo CR: http://www.atoneonline.com/blog/2012/the-abundant-benefits-of-the-herb-gotu-kola/

บัวบกเป็นพืชที่นิยมขึ้นในแถบร้อนชื้น และเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศอินเดีย, ศรีลังกา, ออสเตรเลียเหนือ, อินโดนีเซีย, อีหร่าน, มาเลเซีย, มีลานีเซีย(หมู่เกาะสีดำ), ฟิลิปินส์, ปาปัวนิวกีนี, และส่วนอื่นๆของทวีปเอเชีย  บัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณได้แก่ การแพทย์อายุรเวท, แอฟริกัน และจีน(Wikipedia, 2014) 
นอกจากจะเป็นพืชสมุนไพรเพื่อการรักษาแล้ว ยังสามารถใช้เป็นผัก หรือใช้ทำเครื่องดื่มอีกด้วย โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้คือส่วนใบ

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในใบบัวบก

เป็นสารจำพวกไตรเตอร์พีนซาโพนิน(Triterpenes Saponins) ซึ่งมีมากมายหลายชนิดแต่ที่สำคัญได้แก่ กรดเอเชียติค(Asiatic Acid), กรดมาเดคาสสิก(Madecassic Acid), เอเชียติโคไซด์(Asiaticoside) และมาเดคาสโซไซด์(Madecassoside) ซึ่งปริมาณของสารเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของใบบัวบก โดยปริมาณที่แตกต่างกันเป็นผลจากสถานที่ปลูก และสิ่งแวดล้อม (Hashim, 2011)

ในใบบัวบกยังมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ซึ่งได้แก่ เควอซิทิน(Quercetin), รูทิน(Rutin), แคมพ์ฟิรอล(Kaempferol), คาทิชิน(Catechin), อะพิจินิน(Apigenin) และ นารินจิน(Naringin) (Hashim, 2011)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค


ต้านออกซิเดชั่น

  • มีความสามารถในการต้านออกซิเดชั่นได้ใกล้เคียงวิตามินซี, สารสกัดจากเมล็ดองุ่น และสมุนไพรจากต่างประเทศได้แก่ โรสแมรี่ และ เสจ(sage) (Hashim, 2011)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันในการต้านอนุมูลอิสระ (Hashim, 2011)
  • สารเอเชียติโคไซด์ที่พบในใบบัวบกมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นในระยะแรกของกระบวนการสมานแผล (Hashim, 2011)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านออกซิเดชั่นได้แก่ ซุปเปอร์ออกไซด์ไดมิวเตส, คะทาเลส, และกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส (Hashim, 2011)
  • จากการศึกษาในหนูที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบก และใบบัวบกผงเป็นเวลา 25 สัปดาห์พบว่ามีการเกิดออกซิเดชั่นภายในลดลง (Hashim, 2011)
  • มีฤทธิ์การต้านออกซิเดชั่นของโมเลกุลน้ำตาลซึ่งคุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ฐิติพร ทับทิมทอง และคณะ, 2549)

ปกป้อง และฟื้นฟูสมอง

  • ป้องกันความจำเสื่อมในหนูทดลอง(Hashim, 2011)
  • ปกป้องสารพิษต่างๆที่จะมาทำลายสมอง เช่นโมโนโซเดียมกลูตาเมท และ 3-nitropropionic acid (Hashim, 2011)
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเซลล์สมอง (Hashim, 2011)
  • จากการศึกษาในผู้สูงอายุที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบกในปริมาณ 750 มก. ต่อวันเป็นเวลา 2 เดือนพบว่าผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพในด้านความจำ และการรับรู้ และมีภาวะอารมณ์ดีขึ้น(Hashim, 2011)
  • จากการศึกษาในอาสาสมัครวัยกลางคนที่มีสุขภาพดี และผู้สูงอายุที่ได้รับใบบัวบกปริมาณ 3-4 กรัม(ตามน้ำหนักตัว)เป็นเวลา 2 เดือนแสดงให้เห็นว่าบัวบกสามารถลดการเสื่อมของระบบการทำงานในด้านความจำ และการรับรู้ที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นได้(Hashim, 2011)
  • สารสกัดด้วยน้ำของใบบัวบกมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดโรคพาร์คินซัน(Hashim, 2011)
  • มีคุณสมบัติในการคลายเครียด และคลายกังวลทั้งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และมนุษย์(Hashim, 2011)

สมานแผล

  •  สารเอเชียติโคไซด์ที่พบในใบบัวบกมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และเส้นเลือดฝอย ยับยั้งการอักเสบซึ่งจะก่อให้เกิดแผลเป็น และเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านของเส้นเลือดฝอย(Gohil, et al., 2010)
  • สารมาเดคาสโซไซด์ที่พบในใบบัวบกเมื่อมีการศึกษาโดยนำไปให้หนูทดลองกินพบว่ามีฤทธิ์ในการรักษาแผลไหม้ กระตุ้นให้แผลปิดเร็ว ลดการอักเสบ(อัญชลี, 2554)
  • ช่วยให้แผลในผู้ป่วยโรคเบาหวานหายเร็วขึ้น โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับประทานสารสกัดจากบัวบกแผลที่เท้าจะหายเร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ(Paocharoen, 2010)


ต้านอักเสบ

  • สารสำคัญที่พบในใบบัวบกได้แก่ เอเชียติโคไซด์ และมาเดคสโซไซด์ มีฤทธิ์ต้านอักเสบโดยยับยั้งการสร้างสารก่อการอักเสบ, เพิ่มสารที่สามารถต้านการอักเสบ และลดการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดการอักเสบ(อัญชลี, 2554)
  • สารสกัดด้วยน้ำ และเอธานอลของบัวบกมีฤทธิ์ต้านอักเสบเทียบเท่ายาไอบิวโพรเฟน(ibuprofen)ในปริมาณการศึกษาที่เท่ากัน(อัญชลี, 2554)
  • สารสกัดน้ำจากบัวบกมีคุณสมบัติในการลดอาการบวมเนื่องจากการอักเสบ(อัญชลี, 2554)
  • คุณสมบัติการต้านอักเสบของบัวบกนี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์(Gohil, et al., 2010)

รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากอัลกอฮอล์ โดยการเพิ่มความแข็งแรงของเยื้อบุผนังกระเพาะอาหาร(Gohil, et al., 2010)
  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาอาหารเนื่องจากความเครียด โดยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทกาบา(GABA)ในสมอง (Gohil, et al., 2010)
  • เพิ่มการหลั่งเมือกในกระเพาะ(Gohil, et al., 2010)จึงป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารโดยให้สารสกัดจากบัวบกในปริมาณ 60 มก. พบว่า 93% ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และ 73% แผลหายจากการตรวจด้วยการส่องกล้อง(อัญชลี, 2554)

การศึกษาความเป็นพิษ


พบอาการแพ้ในผู้ที่ใช้บัวบกในการทาภายนอก(Gohil, et al., 2010; อัญชลี, 2554)

จากการศึกษาพิษเฉียบพลันของผงบัวบกพบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายมากร้อยละ 50 (LD50) มีค่ามากกว่า 8 ก/ กก. (น้ำหนักตัว) (อัญชลี, 2554)

จากการศึกษาพิษเรื้อรัง ไม่พบความเป็นพิษต่อหนูที่ขนาดการศึกษาสูงสุด 1200 มก/กก.(น้ำหนักตัว) (อัญชลี, 2554)

อาจเป็นพิษต่อตับโดยพบอาการดีซ่านจากการรับประทานบัวบกในรูปแบบเม็ด(ไม่ทราบปริมาณการทาน) เป็นเวลา 20 - 60 วัน (Jorge&Jorge, 2005) แต่อย่างไรก็ดีต่อมาได้มีการศึกษาในผู้สูงอายุที่ได้รับสารสกัดบัวบกชนิดแคปซูลปริมาณ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งการศึกษานี้ไม่พบความเป็นพิษที่ตับแต่ประการใด(Tiwari, et al., 2008)


การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ


ในการแพทย์แผนโบราณอายุเวท และการแพทย์จีนบัวบกได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการกระวนกระวาย และช่วยให้ผ่อนคลาย

ส่วนตำราสรรพคุณยาไทยว่าบัวบกมีรสขมเฝื่อน แก้เมื่อยขัด แก้ลงท้อง(ถ่ายท้อง) เป็นอายุวัฒนะ แก้โลหิตตกทวาร(เลือดออกที่ก้น) อาเจียนเป็นเลือด มีอาการแสบอก แก้ปัสสาวะขัด แก้ฝี แก้บวม แก้เจ็บคอ สมานแผล(คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย, 2554)

การนำไปใช้

วิธีการคั้นน้ำใบบัวบก คือ ใบบัวบก 1 กำมือหรือ 1 แก้วคือเอาใบบัวบกยัดใส่แก้วพอแน่น ตำหรือปั่นให้ละเอียดเติมน้ำ 1 แก้วคนให้เข้ากัน แล้วกรองกินแต่น้ำ เติมน้ำตาลหรือเกลือ กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร แต่อย่ากินติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานานๆ เพราะบัวบกมีรสเย็นจัดอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้(สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ)

ในเรื่องของยาอายุวัฒนะในการใช้จะมีการผสมพริกไทยลงไปเพื่อแก้ฤทธิ์เย็นของบัวบกโดย ใช้ผงใบบัวบก 2 ส่วนผสมผงพริกไทย 1 ส่วน ละลายน้ำร้อนกินก่อนนอนครั้งละครั้งช้อนชา โดยมีคำกล่าวว่า กิน 1 เดือน โรคร้ายหายสิ้นมีปัญญา กิน 2 เดือน บริบูรณ์น่ารักมีเสน่ห์ กิน 3 เดือนริดสีดวงสิบจำพวกหายสิ้น กิน 4 เดือนลมสิบจำพวกหายหมด กิน 5 เดือนโรคร้ายในกายทุเลา กิน 6 เดือนไม่จักเมื่อยขบ กิน 7 เดือนผิวกายจะสวยงาม กิน 8 เดือน ร่างกายสมบูรณ์เสียงเพราะ(สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ)

ที่มา

  • Wikipedia. (2014). Centella asiatica (online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Centella_asiatica [10 February 2014]
  • Hashim, P. (2011). Centella asiatica in food and beverage applications and its potential antioxidant and neuroprotective effect. International Food Research Journal, 18(4), 1215-1222.
  • ฐิติพร ทับทิมทอง และคณะ. (2549). ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของเถาวัลย์เปรียง, รางจืด, ผักคาวตอง, ปัณจขันธ์ และบัวบก. วารสารการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ปีที่ 4 : 44
  • Gohil, K. J., Patel, J. A., & Gajjar, A. K. (2010). Pharmacological review on Centella asiatica: a potential herbal cure-all. Indian journal of pharmaceutical sciences, 72(5), 546.
  • อัญชลี จูฑะพุทธิ. (2554). บัวบกสมุนไพรแห่งปี. วารสารการแพทย์แผนไทย์และแพทย์ทางเลือก ปีที่ 9 : 84-93
  • Paocharoen, V. (2010). The efficacy and side effects of oral Centella asiatica extract for wound healing promotion in diabetic wound patients. J Med Assoc Thai, 93(Suppl 7), S166-S170.
  •  
  • Jorge, O. A., & Jorge, A. D. (2005). Hepatotoxicity associated with the ingestion of Centella asiatica. Revista Espanola De Enfermedades Digestivas, 97(2), 115-124.
  • Tiwari, S., Singh, S., Patwardhan, K., Gehlot, S., & Gambhir, I. S. (2008). Effect of Centella asiatica on mild cognitive impairment (MCI) and other common age-related clinical problems. Digest Journal of Nanomaterials and Biostructures, 3(4), 215-220.
  • คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย. (2554). ตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย: บัวบก. วารสารการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ปีที่ 9 : 57-61
  • สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. บัวบกสมุนไพรมหัศจรรย์ บำรุงความจำ บำรุงสุขภาพ(ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.hiso.or.th/hiso/health_news/health_story5_10.php [26 กุมภาพันธ์ 2557]

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ดอกเก็กฮวยเพื่อสุขภาพ

เก็กฮวย(Chrysanthemum)

ชื่อวงศ์(Family name) : Compositae.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysanthemum indicum L.


เก็กฮวยเป็นพืชที่ปลูกกันแพร่หลายในประเทศจีน เป็นสมุนไพรที่มีดอกเล็กๆสีเหลืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ส่วนที่นำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณคือส่วนที่อยู่เหนือดิน ซึ่งได้แก่ ก้าน ใบ และดอก ในการนำไปรักษาโรคเวียนศรีษะ, อาการต่างๆเนื่องจากความดันโลหิตสูง และใช้ในการรักษาโรคเนื่องจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคปอดบวม, ลำไส้อักเสบ, เยื้อบุช่องปากอักเสบ, ฝีฝักบัว(carbuncle) และไข้ต่างๆ(Shunying, et al., 2005)

Photo CR. www.biogang.net

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในดอกเก็กฮวย

ในดอกเก็กฮวยจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.2 % ซึ่งได้แก่ 1,8 cineole, camphor, borneol และ borneol acetate(Shunying, et al., 2005)

นอกจากนี้ยังมีสารประกอบฟินอลิก ได้แก่ rhamnosidoglucoside, lactone และ chrysanthemin เป็นต้น(Joe Hing Kwok Chu, 2010)

คุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรค

ต้านอักเสบ และต้านออกซิเดชั่น

มีคุณสมบัติในการยับยั้งการผลิตสารก่ออักเสบต่างๆ(Cheon, et al., 2009) และยังสามารถต้านอักเสบที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปรกติของภูมิคุ้มกันที่ผิวหนัง(Lee, et al., 2009)

ฟลาโวนอยด์ที่พบในดอกเก็กฮวยมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ รวมถึงกระตุ้นการตายของเซลล์ที่เยื้อบุข้อที่เป็นสาเหตุของการอักเสบภายในข้อ(Chen, et al., 2008) ซึ่งคุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์ในการนำไปรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้(Xie, et al., 2008)

สารสกัดด้วยน้ำของดอกเก็กฮวยมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่น และสามารถปกป้องตับจากพิษของสารเคมีได้(Jeong, et al., 2013)

ด้วยคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่น และต้านอักเสบของสารสกัดจากดอกเก็กฮวยจึงเป็นประโยชน์ในการป้องกันการทำลายสมองเนื่องจากโรคพาร์คินซันได้(Kim, et al., 2011)

นอกจากนี้ยังพบว่าคุณสมบัติในการต้านอักเสบนั้นยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง(Huang, et al., 2010) และโรคลำไส้แปรปรวน(Debnath, et al., 2013)

ต้านจุลชีพ

น้ำมันหอมระเหยที่พบในดอกเก็กฮวยมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค และการติดเชื้อ ได้แก่ Staphylococcus saprophyticus และ Escherichia coli(Shunying, et al., 2005) และสารสกัดจากดอกเก็กฮวยสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุในช่องปากได้(Poon, et al., 2011)

มีคุณสมบัติในการต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ(Zhang, et al., 2006)

ต้านมะเร็ง

มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเพิ่มจำนวน และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งตับ(Wang, et al., 2010)

การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ

ดอกเก็กฮวยตคุณสมบัติเป็นยาเย็น จึงนิยมใช้แก้โรคที่เกิดจากความร้อนซึ่งมีผลโดยตรงต่อปอด และตับ ซึ่งช่วยขจัดความร้อนออกไป จึงมีสรรพคุณ แก้หวัด แก้ร้อนใน แก้อาการตาเจ็บตาบวม(เนื่องจากความร้อนที่ตับ) แก้เวียนหัว รักษาแผล ฝี หนองที่เกิดอาการอักเสบและติดเชื้อ
Photo CR. http://chilliminicute.wordpress.com/

การนำไปใช้
สำหรับการใช้ภายในหรือรับประทาน ให้ใช้ดอกแห้งประมาณ 5-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มเป็นชา
สำหรับการใช้ภายนอก ให้ใช้ดอกสดตำแล้วนำมาประคบที่แผล
(คณะเภสัชศาสตร์ มช. , 2556)

ถ้าเริ่มมีอาการที่จะเป็นหวัดเนื่องจากความร้อน หรือมีอาการร้อนในเนื่องจากการอักเสบ ลองหาชาเก็กฮวยมาดื่มดูน่ะค่ะ ถ้าชอบหวานอาจเติมน้ำผึ้งลงไปเล็กน้อยก็ได้ค่ะ

ที่มา
  • Shunying, Z., Yang, Y., Huaidong, Y., Yue, Y., & Guolin, Z. (2005). Chemical composition and antimicrobial activity of the essential oils of< i> Chrysanthemum indicum</i>. Journal of ethnopharmacology, 96(1), 151-158.
  • Joe Hing Kwok Chu. (2010). ye ju hua  野菊 (online). Available : http://alternativehealing.org/ye_ju_hua.htm
  • Cheon M, Yoon T, Lee do Y, Choi G, Moon BC, et al. (2009) Chrysanthemum indicum Linné extract inhibits the inflammatory response by suppressing NF-kB and MAPKs activation in lipopolysaccharide-induced RAW264.7 macrophages. J Ethnopharmacol 122: 473–477. doi: 10.1016/j.jep.2009.01.034
  • Lee, D. Y., Choi, G., Yoon, T., Cheon, M. S., Choo, B. K., & Kim, H. K. (2009). Anti-inflammatory activity of< i> Chrysanthemum indicum</i> extract in acute and chronic cutaneous inflammation. Journal of ethnopharmacology, 123(1), 149-154.
  • Chen, X. Y., Li, J., Cheng, W. M., Jiang, H., Xie, X. F., & Hu, R. (2008). Effect of total flavonoids of Chrysanthemum indicum on the apoptosis of synoviocytes in joint of adjuvant arthritis rats. The American journal of Chinese medicine,36(04), 695-704.
  • Xie, X. F., Li, J., Chen, Z., Hu, C. M., & Chen, W. W. (2008). Beneficial effect of total flavonoids of Chrysanthemum indicum on adjuvant arthritis by induction of apoptosis of synovial fibroblasts]. Zhongguo Zhong yao za zhi= Zhongguo zhongyao zazhi= China journal of Chinese materia medica, 33(23), 2838.
  • Jeong, S. C., Kim, S. M., Jeong, Y. T., & Song, C. H. (2013). Hepatoprotective effect of water extract from Chrysanthemum indicum L. flower. Chinese medicine, 8(1), 7.
  • Kim, I. S., Ko, H. M., Koppula, S., Kim, B. W., & Choi, D. K. (2011). Protective effect of< i> Chrysanthemum indicum</i> Linne against 1-methyl-4-phenylpridinium ion and lipopolysaccharide-induced cytotoxicity in cellular model of Parkinson’s disease. Food and Chemical Toxicology, 49(4), 963-973.
  • HUANG, Y., HUANG, Y. L., & SU, Y. (2010). Effect of the extraction of Chrysanthemum indicum on the protein expression of TNF-α, IL-6 and pathological morphological changes of lung in chronic bronchitis model of rats.Chinese Journal of Gerontology, 18, 025.
  • Debnath, T., Kim, D. H., & Lim, B. O. (2013). Natural Products as a Source of Anti-Inflammatory Agents Associated with Inflammatory Bowel Disease.Molecules, 18(6), 7253-7270.
  • Poon, D., Wu, L., Zhu, J. S., & Case, C. Investigation Of The Antimicrobial Activity Of Chrysanthemum indicum. Hall 1-2 (San Jose Convention Center). 28 October 2011.
  • ZHANG, Z. Y., FANG, X. P., DIAO, Z. H., ZENG, R. H., & MEI, X. G. (2006). Anti-respiratory Syncytial Virus Effect of the Extraction of Chrysanthemum Indicum in Vitro [J]. Pharmaceutical Journal of Chinese People's Liberation Army, 4.
  • Wang, Z. D., Huang, C., Li, Z. F., Yang, J., Li, B. H., Liang, R. R., ... & Liu, Z. W. (2010). Chrysanthemum indicum ethanolic extract inhibits invasion of hepatocellular carcinoma via regulation of MMP/TIMP balance as therapeutic target. Oncology reports, 23(2), 413-421.
  • คณะเภสัชศาสตร์ มช. (2556). เก็กฮวย (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/n75.php

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ดอกอัญชันเพื่อสุขภาพ

อัญชัน(Butterfly Pea)

ชื่อวงศ์(Family name) : Fabaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clitoria ternatea Linn.
Photo Cr: http://commons.wikimedia.org/

อัญชันเป็นไม้เลี้อยที่มีดอกสีน้ำเงินซึ่งมีรูปร่างคล้ายอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง จึงเป็นที่มาของชื่อลาตินของดอกอัญชันคำว่า Clitoria ซึ่งแผลงมาจาก Clitoris
อัญชันเป็นพืชที่พบได้ในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตรของเอเชีย และได้ถูกนำไปเพาะปลูกในแถบแอฟริกา อเมริกา และออสเตรเลีย
มีการใช้อัญชันในตำรับอายุรเวทมาเป็นเวลานานกว่าหลายร้อยปีในด้านเพิ่มความจำ บำรุงสมอง คลายเครียด คลายกังวล ช่วยให้หลับง่าย  ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมนำดอกอัญชันมาใช้ทำสีผสมอาหาร หรือใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม
(Wikipedia, 2014)

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในดอกอัญชัน
สีน้ำเงินที่พบในดอกอัญชันคือสารจำพวก “แอนโทไซยานิน(Anthocyanin)” ที่เรียกว่าเทอร์นาทิน(Ternatins A3, B2-B4, C1-C5, D2, D3) และพรีเทอร์นาทิน(Preternatins A3, A4)(Terahara, et al., 1996; Terahara, et al., 1998)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค
มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากดอกอัญชัน
·         มีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูทดลอง(Daisy and Rajathi, 2009)
·         มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ(Rabeta and Nabil, 2013)
·         มีคุณสมบัติในการปกป้องตับจากพิษของยาพารา(Nithianantham, et al., 2013)
·         มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบและบรรเทาปวด(Shayamkumar and Ishwar, 2012)
·         มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง(Kumar and Bhat, 2011; Neda, et al., 2013)

การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ
ราก : รสเย็นจืด บำรุงดวงตา ทำให้ตาสว่าง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปวดฟัน ทำ ให้ฟันทน
น้ำคั้นจากใบสดและดอกสด : ใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ ฝ้าฟาง ตาแฉะ มืดมัว
น้ำคั้นจากดอก : ใช้ทาคิ้ว ทาหัว เป็นยาปลูกผม (ขน) ทำให้ ผมดกดำเงางาม

สีจากดอกอัญชัน ใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง นิยมใช้ดอกสีน้ำเงินซึ่งมีสาร Anthocyanin ใช้ ทำสีขนม เช่น ขนมดอกอัญชัน ขนมช่อม่วง ทำน้ำดื่มสมุนไพร ได้ น้ำสีม่วงสวย เพราะสีของดอกอัญชันละลายน้ำได้ รวมทั้งสีเปลี่ยน ไปตามความเป็นกรดด่าง คล้าย กระดาษลิตมัสที่ใช้ตรวจสอบความ เป็นกรดด่างของสารละลาย

นอกจากนี้ดอกอัญชันยังกินเป็นผักได้ ทั้ง จิ้มน้ำพริกสดๆ หรือชุบแป้งทอด
(หมอชาวบ้าน, 2002)

การทำน้ำดอกอัญชันสำหรับดื่ม
ตามตำราสมุนไพรไทย ดอกอัญชันมีคุณสมบัติเป็นยาเย็นดื่มขับความร้อนออกจากร่างกาย ช่วยลดพิษไข้ได้  อีกทั้งยังมีคุณสมบัติบำรุงดวงตา แก้ตาอักเสบ ไปจนถึงเป็นยาบำรุงเลือดชั้นดี ช่วยขยายหลอดเลือดทำให้ระบบหมุนเวียนดีขึ้น ดอกอัญชันยังมีสารด้านอนุมูลอิสระมาก หากดื่มบ่อยๆ จะช่วยอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย
ส่วนผสมน้ำดอกอัญชัน
ดอกอัญชัน 30 ดอก  /  ใบอัญชัน  15 ใบ  / น้ำเชื่อม  300 ซีซี  /  น้ำสะอาด 100 ซีซี  /  น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ  /  น้ำแข็ง  /  เกลือป่น
วิธีทำ
ล้างดอกอัญชันให้สะอาด เด็ดเอาเฉพาะกลีบตำให้ละเอียด คั้นเอาเฉพาะน้ำ นำใบอัญชันมาล้างให้สะอาด บีบให้พอช้ำและต้มกับน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ เคี่ยวให้เหลือ 2 ใน 3 กรองเอาแต่น้ำ เติมน้ำสะอาดที่เตรียมไว้พร้อมน้ำดอกอัญชันที่ได้คั้นไว้แต่แรก คนให้เข้ากัน สามารถเติมน้ำมะนาวและเกลือป่นเพื่อเพิ่มรสชาติและสรรพคุณทางยา
(Thearokaya, 2014)

น้ำดอกอัญชันก่อนเติมน้ำมะนาวจะมีสีน้ำเงินเมื่อเติมน้ำมะนาวแล้วจะมีสีม่วงแดง
Photo Cr: https://xinfully.wordpress.com/tag/blue-pea-flowers/

ที่มา
  • Wikipedia. (2014). Clitoria ternatea (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Clitoria_ternatea [3 Feb 2014]
  • Terahara, N., Oda, M., Matsui, T., Osajima, Y., Saito, N., Toki, K., & Honda, T. (1996). Five new anthocyanins, ternatins A3, B4, B3, B2, and D2, from Clitoria ternatea flowers. Journal of natural products, 59(2), 139-144.
  • Terahara, N., Toki, K., Saito, N., Honda, T., Matsui, T., & Osajima, Y. (1998). Eight New Anthocyanins, Ternatins C1-C5 and D3 and Preternatins A3 and C4 from Young Clitoria t ernatea Flowers. Journal of natural products, 61(11), 1361-1367.
  • Daisy, P., & Rajathi, M. (2009). Hypoglycemic effects of Clitoria ternatea Linn.(Fabaceae) in alloxan-induced diabetes in rats. Tropical Journal of Pharmaceutical Research, 8(5).
  • Rabeta, M. S., & Nabil, Z. A. (2013). Total phenolic compounds and scavenging activity in Clitoria ternatea and Vitex negundo Linn. International Food Research Journal, 20(1), 495-500.
  • Nithianantham, K., Ping, K. Y., Latha, L. Y., Jothy, S. L., Darah, I., Chen, Y., ... & Sasidharan, S. (2013). Evaluation of hepatoprotective effect of methanolic extract of< i> Clitoria ternatea</i>(Linn.) flower against acetaminophen-induced liver damage. Asian Pacific Journal of Tropical Disease, 3(4), 314-319.
  • Shayamkumar & Ishwar, B. (2012). Anti inflammatory, analgesic and phytochemical studies of Clitoria ternatea Linn. flower extract. International Research Journal of Pharmacy, 3(3), 208-210.
  • Kumar, B. S., & Bhat, K. I. (2011). IN-VITRO CYTOTOXIC ACTIVITY STUDIES OF CLITORIA TERNATEA LINN FLOWER EXTRACTS. International Journal of Pharmaceutical Sciences Review & Research, 6(2).
  • Neda, G. D., Rabeta, M. S., & Ong, M. T. (2013). Chemical composition and anti-proliferative properties of flowers of Clitoria Ternatea. International Food Research Journal, 20(3).
  • หมอชาวบ้าน. (2002). อัญชันสีสำหรับเส้นผมและดวงตา(ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.doctor.or.th/article/detail/2359 [4 กุมภาพันธ์ 2557]
  • Thearokaya. (2014). น้ำดอกอัญชันช่วยบำรุงสายตาบำรุงเลือด(ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://thearokaya.co.th/web/?p=1014 [4 กุมภาพันธ์ 2557]