หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บัวบก เพื่อสุขภาพ

บัวบก(Gotu Kola, Asiatic Pennywort, Indian Pennywort)

ชื่อวงศ์(Family Name): Apiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์  Centella asiatica L.
Photo CR: http://www.atoneonline.com/blog/2012/the-abundant-benefits-of-the-herb-gotu-kola/

บัวบกเป็นพืชที่นิยมขึ้นในแถบร้อนชื้น และเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศอินเดีย, ศรีลังกา, ออสเตรเลียเหนือ, อินโดนีเซีย, อีหร่าน, มาเลเซีย, มีลานีเซีย(หมู่เกาะสีดำ), ฟิลิปินส์, ปาปัวนิวกีนี, และส่วนอื่นๆของทวีปเอเชีย  บัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณได้แก่ การแพทย์อายุรเวท, แอฟริกัน และจีน(Wikipedia, 2014) 
นอกจากจะเป็นพืชสมุนไพรเพื่อการรักษาแล้ว ยังสามารถใช้เป็นผัก หรือใช้ทำเครื่องดื่มอีกด้วย โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้คือส่วนใบ

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในใบบัวบก

เป็นสารจำพวกไตรเตอร์พีนซาโพนิน(Triterpenes Saponins) ซึ่งมีมากมายหลายชนิดแต่ที่สำคัญได้แก่ กรดเอเชียติค(Asiatic Acid), กรดมาเดคาสสิก(Madecassic Acid), เอเชียติโคไซด์(Asiaticoside) และมาเดคาสโซไซด์(Madecassoside) ซึ่งปริมาณของสารเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของใบบัวบก โดยปริมาณที่แตกต่างกันเป็นผลจากสถานที่ปลูก และสิ่งแวดล้อม (Hashim, 2011)

ในใบบัวบกยังมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ซึ่งได้แก่ เควอซิทิน(Quercetin), รูทิน(Rutin), แคมพ์ฟิรอล(Kaempferol), คาทิชิน(Catechin), อะพิจินิน(Apigenin) และ นารินจิน(Naringin) (Hashim, 2011)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค


ต้านออกซิเดชั่น

  • มีความสามารถในการต้านออกซิเดชั่นได้ใกล้เคียงวิตามินซี, สารสกัดจากเมล็ดองุ่น และสมุนไพรจากต่างประเทศได้แก่ โรสแมรี่ และ เสจ(sage) (Hashim, 2011)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันในการต้านอนุมูลอิสระ (Hashim, 2011)
  • สารเอเชียติโคไซด์ที่พบในใบบัวบกมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นในระยะแรกของกระบวนการสมานแผล (Hashim, 2011)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านออกซิเดชั่นได้แก่ ซุปเปอร์ออกไซด์ไดมิวเตส, คะทาเลส, และกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส (Hashim, 2011)
  • จากการศึกษาในหนูที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบก และใบบัวบกผงเป็นเวลา 25 สัปดาห์พบว่ามีการเกิดออกซิเดชั่นภายในลดลง (Hashim, 2011)
  • มีฤทธิ์การต้านออกซิเดชั่นของโมเลกุลน้ำตาลซึ่งคุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ฐิติพร ทับทิมทอง และคณะ, 2549)

ปกป้อง และฟื้นฟูสมอง

  • ป้องกันความจำเสื่อมในหนูทดลอง(Hashim, 2011)
  • ปกป้องสารพิษต่างๆที่จะมาทำลายสมอง เช่นโมโนโซเดียมกลูตาเมท และ 3-nitropropionic acid (Hashim, 2011)
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเซลล์สมอง (Hashim, 2011)
  • จากการศึกษาในผู้สูงอายุที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบกในปริมาณ 750 มก. ต่อวันเป็นเวลา 2 เดือนพบว่าผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพในด้านความจำ และการรับรู้ และมีภาวะอารมณ์ดีขึ้น(Hashim, 2011)
  • จากการศึกษาในอาสาสมัครวัยกลางคนที่มีสุขภาพดี และผู้สูงอายุที่ได้รับใบบัวบกปริมาณ 3-4 กรัม(ตามน้ำหนักตัว)เป็นเวลา 2 เดือนแสดงให้เห็นว่าบัวบกสามารถลดการเสื่อมของระบบการทำงานในด้านความจำ และการรับรู้ที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นได้(Hashim, 2011)
  • สารสกัดด้วยน้ำของใบบัวบกมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดโรคพาร์คินซัน(Hashim, 2011)
  • มีคุณสมบัติในการคลายเครียด และคลายกังวลทั้งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และมนุษย์(Hashim, 2011)

สมานแผล

  •  สารเอเชียติโคไซด์ที่พบในใบบัวบกมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และเส้นเลือดฝอย ยับยั้งการอักเสบซึ่งจะก่อให้เกิดแผลเป็น และเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านของเส้นเลือดฝอย(Gohil, et al., 2010)
  • สารมาเดคาสโซไซด์ที่พบในใบบัวบกเมื่อมีการศึกษาโดยนำไปให้หนูทดลองกินพบว่ามีฤทธิ์ในการรักษาแผลไหม้ กระตุ้นให้แผลปิดเร็ว ลดการอักเสบ(อัญชลี, 2554)
  • ช่วยให้แผลในผู้ป่วยโรคเบาหวานหายเร็วขึ้น โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับประทานสารสกัดจากบัวบกแผลที่เท้าจะหายเร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ(Paocharoen, 2010)


ต้านอักเสบ

  • สารสำคัญที่พบในใบบัวบกได้แก่ เอเชียติโคไซด์ และมาเดคสโซไซด์ มีฤทธิ์ต้านอักเสบโดยยับยั้งการสร้างสารก่อการอักเสบ, เพิ่มสารที่สามารถต้านการอักเสบ และลดการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดการอักเสบ(อัญชลี, 2554)
  • สารสกัดด้วยน้ำ และเอธานอลของบัวบกมีฤทธิ์ต้านอักเสบเทียบเท่ายาไอบิวโพรเฟน(ibuprofen)ในปริมาณการศึกษาที่เท่ากัน(อัญชลี, 2554)
  • สารสกัดน้ำจากบัวบกมีคุณสมบัติในการลดอาการบวมเนื่องจากการอักเสบ(อัญชลี, 2554)
  • คุณสมบัติการต้านอักเสบของบัวบกนี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์(Gohil, et al., 2010)

รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากอัลกอฮอล์ โดยการเพิ่มความแข็งแรงของเยื้อบุผนังกระเพาะอาหาร(Gohil, et al., 2010)
  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาอาหารเนื่องจากความเครียด โดยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทกาบา(GABA)ในสมอง (Gohil, et al., 2010)
  • เพิ่มการหลั่งเมือกในกระเพาะ(Gohil, et al., 2010)จึงป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารโดยให้สารสกัดจากบัวบกในปริมาณ 60 มก. พบว่า 93% ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และ 73% แผลหายจากการตรวจด้วยการส่องกล้อง(อัญชลี, 2554)

การศึกษาความเป็นพิษ


พบอาการแพ้ในผู้ที่ใช้บัวบกในการทาภายนอก(Gohil, et al., 2010; อัญชลี, 2554)

จากการศึกษาพิษเฉียบพลันของผงบัวบกพบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายมากร้อยละ 50 (LD50) มีค่ามากกว่า 8 ก/ กก. (น้ำหนักตัว) (อัญชลี, 2554)

จากการศึกษาพิษเรื้อรัง ไม่พบความเป็นพิษต่อหนูที่ขนาดการศึกษาสูงสุด 1200 มก/กก.(น้ำหนักตัว) (อัญชลี, 2554)

อาจเป็นพิษต่อตับโดยพบอาการดีซ่านจากการรับประทานบัวบกในรูปแบบเม็ด(ไม่ทราบปริมาณการทาน) เป็นเวลา 20 - 60 วัน (Jorge&Jorge, 2005) แต่อย่างไรก็ดีต่อมาได้มีการศึกษาในผู้สูงอายุที่ได้รับสารสกัดบัวบกชนิดแคปซูลปริมาณ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งการศึกษานี้ไม่พบความเป็นพิษที่ตับแต่ประการใด(Tiwari, et al., 2008)


การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ


ในการแพทย์แผนโบราณอายุเวท และการแพทย์จีนบัวบกได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการกระวนกระวาย และช่วยให้ผ่อนคลาย

ส่วนตำราสรรพคุณยาไทยว่าบัวบกมีรสขมเฝื่อน แก้เมื่อยขัด แก้ลงท้อง(ถ่ายท้อง) เป็นอายุวัฒนะ แก้โลหิตตกทวาร(เลือดออกที่ก้น) อาเจียนเป็นเลือด มีอาการแสบอก แก้ปัสสาวะขัด แก้ฝี แก้บวม แก้เจ็บคอ สมานแผล(คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย, 2554)

การนำไปใช้

วิธีการคั้นน้ำใบบัวบก คือ ใบบัวบก 1 กำมือหรือ 1 แก้วคือเอาใบบัวบกยัดใส่แก้วพอแน่น ตำหรือปั่นให้ละเอียดเติมน้ำ 1 แก้วคนให้เข้ากัน แล้วกรองกินแต่น้ำ เติมน้ำตาลหรือเกลือ กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร แต่อย่ากินติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานานๆ เพราะบัวบกมีรสเย็นจัดอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้(สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ)

ในเรื่องของยาอายุวัฒนะในการใช้จะมีการผสมพริกไทยลงไปเพื่อแก้ฤทธิ์เย็นของบัวบกโดย ใช้ผงใบบัวบก 2 ส่วนผสมผงพริกไทย 1 ส่วน ละลายน้ำร้อนกินก่อนนอนครั้งละครั้งช้อนชา โดยมีคำกล่าวว่า กิน 1 เดือน โรคร้ายหายสิ้นมีปัญญา กิน 2 เดือน บริบูรณ์น่ารักมีเสน่ห์ กิน 3 เดือนริดสีดวงสิบจำพวกหายสิ้น กิน 4 เดือนลมสิบจำพวกหายหมด กิน 5 เดือนโรคร้ายในกายทุเลา กิน 6 เดือนไม่จักเมื่อยขบ กิน 7 เดือนผิวกายจะสวยงาม กิน 8 เดือน ร่างกายสมบูรณ์เสียงเพราะ(สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ)

ที่มา

  • Wikipedia. (2014). Centella asiatica (online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Centella_asiatica [10 February 2014]
  • Hashim, P. (2011). Centella asiatica in food and beverage applications and its potential antioxidant and neuroprotective effect. International Food Research Journal, 18(4), 1215-1222.
  • ฐิติพร ทับทิมทอง และคณะ. (2549). ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของเถาวัลย์เปรียง, รางจืด, ผักคาวตอง, ปัณจขันธ์ และบัวบก. วารสารการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ปีที่ 4 : 44
  • Gohil, K. J., Patel, J. A., & Gajjar, A. K. (2010). Pharmacological review on Centella asiatica: a potential herbal cure-all. Indian journal of pharmaceutical sciences, 72(5), 546.
  • อัญชลี จูฑะพุทธิ. (2554). บัวบกสมุนไพรแห่งปี. วารสารการแพทย์แผนไทย์และแพทย์ทางเลือก ปีที่ 9 : 84-93
  • Paocharoen, V. (2010). The efficacy and side effects of oral Centella asiatica extract for wound healing promotion in diabetic wound patients. J Med Assoc Thai, 93(Suppl 7), S166-S170.
  •  
  • Jorge, O. A., & Jorge, A. D. (2005). Hepatotoxicity associated with the ingestion of Centella asiatica. Revista Espanola De Enfermedades Digestivas, 97(2), 115-124.
  • Tiwari, S., Singh, S., Patwardhan, K., Gehlot, S., & Gambhir, I. S. (2008). Effect of Centella asiatica on mild cognitive impairment (MCI) and other common age-related clinical problems. Digest Journal of Nanomaterials and Biostructures, 3(4), 215-220.
  • คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย. (2554). ตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย: บัวบก. วารสารการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ปีที่ 9 : 57-61
  • สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. บัวบกสมุนไพรมหัศจรรย์ บำรุงความจำ บำรุงสุขภาพ(ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.hiso.or.th/hiso/health_news/health_story5_10.php [26 กุมภาพันธ์ 2557]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น