หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

เตยหอมเพื่อสุขภาพ

เตยหอม(Pandan)

ชื่อวงศ์                   Pandanaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์    Pandanus amaryllifolius Roxb
Photo CR: en.wikipedia.org


เตยหอมเป็นพืชที่ปลูกกันมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ประเทศไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, และอินเดีย  ใบของเตยหอมได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ, สีผสมอาหาร และปรุงแต่งกลิ่นของอาหาร  ในกลุ่มสกุลของเตย(Pandanus sp.)นั้นเตยหอมเป็นสายพันธุ์เดียวที่มีกลิ่นหอม  กลิ่นหอมของเตยหอมนั้นจะมีกลิ่นหอมถั่วผสมกับกลิ่นหญ้าสด โดยกลิ่นนี้อาจเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชในประเทศแถบนี้ก็ได้ดังเช่นกลิ่นข้าวหอมมะลิบ้านเราซึ่งก็มีกลิ่นหอมคล้ายๆกัน

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในใบเตยหอม1


สารหอมระเหยมากมายซึ่งที่สำคัญได้แก่ 2-acetyl-1-pyrroline
อัลคาลอยด์ ได้แก่ pandanamine และ pandamerilactones
สารเลกติน(lectin) เป็นสารโปรตีนที่มีคาร์โบไฮเดรตมาเกาะ ซึ่งได้แก่ แพนดานิน (Pandanin)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค


ต้านไวรัส
สารเลกติน (Lectin) ที่มีชื่อว่าแพนดานิน (Pandanin) ที่พบในใบเตยหอมมีคุณสมบัติในการต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ต้านไวรัสโรคเอดส์(HIV), ไวรัสโรคเริม(HSV), ไวรัสโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ(RSV), ไวรัสไข้หวัดใหญ่(H1N1) และ ไวรัสไข้หวัดนก(H5N1)1,2

ต้านอนุมูลอิสระ
มีคุณสมบัติในการต้านการเกิดออกซิเดชั่นและสามารถจับกับอนุมูลอิสระ3,4

ต้านมะเร็ง
มีคุณสมบัติในการยั้งยังการเจริญของเซลล์มะเร็งซึ่งได้แก่ มะเร็งตับ, มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม5

ลดระดับน้ำตาลในเลือด
มีการทดลองในอาสาสมัครที่สุขภาพดีและมีระดับน้ำตาลในเลือดปรกติ พบว่ากลุ่มที่ดื่มชาเตยหอมมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ดื่ม โดยจากการศึกษาพบว่าสารสกัดของใบเตยหอมมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน6

การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ7,8


เตยหอมมีรสเย็นหอมหวาน ส่วนของเตยหอมที่นำมาใช้สามารถใช้ได้ทั่ง ใบ, ต้น และราก โดย
ใบ                           บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ลดอาการกระหายน้ำ โดยต้มดื่มเป็นชา หรือเอาใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง หรือใช้ผสมในอาหารเพื่อการแต่งกลิ่นและสี
รักษาโรคหัด โรคผิวหนัง ใช้ใบตำพอก
ต้นและราก           ขับปัสสาวะแก้กระษัย โดย ใช้ต้น 1 ต้น หรือราก ครึ่งกำมือ ต้มกับน้ำดื่ม
ราก                         ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดย ใช้ราก 1 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่ม เช้าเย็น

การทำน้ำใบเตย
Photo CR: www.foodspotting.com
นำใบเตยสดที่ไม่แก่มากประมาณ 30 กรัม (5-6 ใบ) มาล้างให้สะอาด หั่นตามขวางเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำไปปั่นกับน้ำเล็กน้อยแล้วกรองเอากากออกจะได้น้ำสีเขียวเข้มแล้วเก็บไว้  ส่วนที่สองนำไปใส่ในน้ำเดือดปริมาตรประมาณ 1 ลิตร เคี่ยวประมาณ 5-10 นาที เติมน้ำตาลทรายประมาณ ¾ ถ้วยตวง(12 ช้อนโต๊ะ) กรองเอากากออกแล้วเติมน้ำใบเตยส่วนแรกที่ทำไว้ ต้มเดือดอีกประมาณ 5 นาที ปิดไฟพักไว้ให้เย็น แล้วนำไปเก็บในตู้เย็น เวลาจะดื่มก็เติมน้ำแข็งตามชอบ
แต่ถ้าจะดื่มเพื่อสุขภาพจริงๆไม่ควรเติมน้ำตาล หรืออาจใช้น้ำผึ้งให้ความหวานแทนน้ำตาล

ที่มา

  1. Ooi, L. S., Sun, S. S., & Ooi, V. E. (2004). Purification and characterization of a new antiviral protein from the leaves of< i> Pandanus amaryllifolius</i>(Pandanaceae). The international journal of biochemistry & cell biology, 36(8), 1440-1446.
  2. Ooi, V. E., Chan, P. K., Chiu, L. C., Sun, S. S., & Wong, H. N. Studies on Antiviral Activities of Chinese Medicine-derived Phytochemicals Active Against SARS-associated Coronavirus or Avian Influenza A (H5N1) Virus for Potential Development.
  3. Yan, S. W., & Asmah, R. (2010). Comparison of total phenolic contents and antioxidant activities of turmeric leaf, pandan leaf and torch ginger flower. Int Food Res J, 17, 417-423.
  4. Hui, W., Ying, L., Wen-li, M., Le-he, T., Xue-rong, X., & Hao-fu, D. (2012). Antioxidant Properties of Pandanus amaryllifolius Leaves. Natural Product Research & Development, 24(2).
  5. Zan, C. H., Rahmat, A., Akim, A. M., Alitheen, N. B. M., Othman, F., & Lian, G. E. C. (2011). Anti-proliferative effects of pandan leaves (< IT> Pandanus amarylfolius</IT>), kantan flower (< IT> Etlingera elatior</IT>) and turmeric leaves (< IT> Curcuma longa</IT>). Nutrition & Food Science, 41(4), 238-241.
  6. ณัฐกานต์ หนูรุ่น. (2553). ผลของสารสกัดใบเตยหอมต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบันฑิล มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์
  7. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. เตยหอม (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_3.htm [25 มีนาคม 2557]
  8. นพพล เกตุประสาท. เตยหอม (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://clgc.rdi.ku.ac.th/index.php/rs/f-product2/314-pandanus [ 25 มีนาคม 2557]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น