หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สะระแหน่ เพื่อสุขภาพ

สะระแหน่(Kitchen Mint)

ชื่อวงศ์                   Lamiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์    Mentha cordifolia Opiz.
สะระแหน่เป็นพืชที่ปลูกกันมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นพืชในตระกูลมินท์ และวงศ์เดียวกับกระเทียม จึงมีกลิ่นหอมเย็นๆและฉุน
สะระแหน่เป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร โดยนิยมรับประทานเป็นเครื่องเคียงคู่กับลาบ ยำต่างๆ และยังนำมาทำชาสมุนไพรได้อีกด้วย
 
Photo CR: http://pirun.kps.ku.ac.th/

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในใบสะระแหน่

น้ำมันหอมระเหยได้แก่ Cadinene, Carvone, Coumarin1

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค


ต้านแบคทีเรีย
สารสกัดด้วยน้ำจากใบสะระแหน่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Klebsiella   pneumonia ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมและปอดอักเสบ1

ลดความดันโลหิต
สารสกัดจากใบสะระแหน่มีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหลอดเลือดในหนูทดลอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ2,3

บรรเทาอาการปวด
สาร Menthalactone ที่พบในใบสะระแหน่มีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวด(Analgesic Effect)4

ต้านมะเร็ง
สารสกัดจากใบสะระแหน่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ยับยั้งการกลายพันธุ์5,6

ระงับกลิ่นปาก
มีการศึกษาในอาสาสมัครทดลองอมยาอมที่มีสะระแหน่เป็นส่วนประกอบพบว่าสามารถลดกลิ่นปากในยามเช้าตอนตื่นนอนได้7

การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ8,9,10


การแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด เย็น มีฤทธิ์ช่วยให้ผ่อนคลาย กระจายลมร้อน แก้หวัดจากการกระทบลมร้อน โรคที่มีไข้สูงในระยะแรก มีฤทธิ์ระบายความร้อนให้ศีรษะและทำให้ตาสว่าง แก้ปวดศีรษะ ตาแดง เจ็บคอ คอบวม มีฤทธิ์กระทุ้งและขับหัด อีสุกอีใส สรรพคุณช่วยกระทุ้งหัด อีสุกอีใส แก้ลมพิษ ผดผื่นคัน และมีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลายอาการตับและอาการเครียด แก้อาการเครียดแล้วทำให้ชี่ไม่หมุนเวียน อึดอัดบริเวณหน้าอก เจ็บบริเวณชายโครง
การนำไปใช้         ใช้ 3-6 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

การแพทย์แผนไทย
รสหอมร้อน สรรพคุณ ขับเหงื่อ แก้หืด แก้ปวดท้อง ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ พอกหรือทา แก้ผื่นคัน แก้ปวดบวม
การนำไปใช้         ใช้ทาโดยการนำใบสดๆ ตำให้ละเอียดใช้ทาผิวแก้ผื่นคัน แมลงกัดต่อย และไล่ยุง  หรือนำมาทาบริเวณขมับบรรเทาอาการปวดหัว
                                ใช้ใบสดต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการบิดหรือท้องร่วง หรืนำใบสดมาโขลกให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้า รับประทานแก้ปวดท้อง และช่วยขับลม หรือรับประทานสดๆช่วยระงับกลิ่นปาก
                                สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยนำไปใช้ในการทำ “สุคนธบำบัด (Aromatherapy)” ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาท และระบบฮอร์โมน มีส่วนช่วยในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

ที่มา

1. จิราภรณ์ บุราคร และ เรือนแก้ว ประพฤติ. (2555). ผลของสารสกัดสมุนไพรพื้นบ้านไทยจำนวน 7 ชนิดต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย. วารสารการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก ปีที่ 10: 11-22

2. Pakdeechote, P., Kukongviriyapan, U., Berkban, W., Prachaney, P., Kukongviriyapan, V., & Nakmareong, S. (2011). Mentha cordifolia extract inhibits the development of hypertension in L-NAME-induced hypertensive rats.J. Med. Plant Res., 5, 1175-1183.

3. Pakdeechote, P., Prachaney, P., Berkban, W., Kukongviriyapan, U., Kukongviriyapan, V., Khrisanapant, W., & Phirawatthakul, Y. (2014). Vascular and Antioxidant Effects of an Aqueous Mentha cordifolia Extract in Experimental N G-Nitro-l-arginine Methyl Ester-Induced Hypertension.Zeitschrift für Naturforschung. C, Journal of biosciences, 69(1-2), 35.

4. Villaseñor, I. M., & Sanchez, A. C. (2009). Menthalactone, a new analgesic from Mentha cordifolia Opiz. Leaves. Zeitschrift für Naturforschung. C, A journal of biosciences, 19(11), 809.

5. Villasenor, I. M., Aberion, D. P. S., & Angelada, J. S. (1997). Anticarcinogenicity and antiteratogenicity potential of the antimutagenic chloroform leaf extract from Mentha cordifolia Opiz. Philippine Journal of Science, 126.

6. Villaseñor, I. M., Echegoyen, D. E., & Angelada, J. S. (2002). A new antimutagen from< i> Mentha cordifolia</i> Opiz. Mutation Research/Genetic Toxicology and Environmental Mutagenesis, 515(1), 141-146.

7. KRAIVAPHAN, P. (2011). The Effectiveness of Kitchen Mint Lozenge in Reducing Oral Halitosis.

8. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก. (2551). คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.puriku.com/download/herb/คู่มื่อการใช้สมุนไพรไทย-จีน.pdf

9. Today Health. บริโภคผักให้เป็นยา ตอนที่ 2 ใบกุยช่าย ตะไคร้ สะระแหน่ (ออนไลน์). สืบค้นจากhttp://www.todayhealth.org/food-health/อาหารเพื่อสุขภาพ/บริโภคผักให้เป็นยา-ตอนที่-2-ใบกุยช่าย-ตะไคร้-สะระแหน่.html

10. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กระทรวงสาธารณสุข. ก้าวทันโลก: 9 ผักสวนครัวมากประโยชน์ (ออนไลน์). สืบค้นจากhttp://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/news_detail.php?cat=G&id=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น