เห็ดหลินจือ (reishi
mushroom)
Photo CR: http://reishimushroomelite.com/ |
ชื่อวงศ์ Ganodermataceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ganoderma lucidum (Curtis) P. Karst
เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่มีประวัติใช้ในการรักษาในประเทศจีนมาเป็นเวลานานกว่า
4000 ปี โดยนิยมใช้ในการรักษาโรคตับ ไต ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ
อาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หอบ หลอดลมอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร แต่ยุคที่ค่อนข้างให้ความสนใจในเห็ดหลินจือคือยุคของจักรพรรดิ์จินซี
ชาวจีนจะเรียกเห็ดหลินจือว่า Ling
Zhi ซึ่งชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่าเห็ดหลินจือนั้นเป็นยาอมตะ
ทำให้ร่างการมีสุขภาพแข็งแรง และยังช่วยทำให้จิตใจสงบผ่อนคลาย
เห็ดหลินจือในสมัยโบราณจึงเป็นเห็ดที่มูลค่าสูงมาก(1,2)
โดยธรรมชาติเห็ดหลินจือจะเจริญบนซากต้นไม้ที่ตายแล้ว
โดยเฉพาะซากของต้นไม้ผลัดใบเช่น โอ๊ก, เมเปิ้ล, เอล์ม, วิลโลว์, สวีท กัม (sweet gum), แมกโนเลีย และต้นโลคัส (locust)
ส่วนทางภูมิภาคตะวันออกนั้นจะพบขึ้นบนซากต้นพลัม นอกจากนี้ยังพบตามตอไม้ใกล้พื้นดิน
หรือบริเวณดินที่มีซากรากไม้ฝั่งอยู่(2)
เห็ดหลินจือนิยมนำใช้ในการบำรุงหรือรักษาสุขภาพเท่านั้น
ไม่นิยมบริโภคเป็นอาหารทั่วไปเนื่องจากมีเนื้อแข็งมากยากต่อการบริโภคปรกติ
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในเห็ดหลินจือ(1)
ในเห็ดหลินจือจะมีพฤกษเคมีมากกว่า 400 ชนิด
ซึ่งที่สำคัญคือ
- ไตรเตอร์ปีนอยด์ ได้แก่ กรดกาโนเดอริก (ganoderic acid), กรดกาโนสปอริริก เอ (ganosporeric acid A)
- โพลีแซคคาไรด์ ได้แก่ เบต้าดีกูลแคน (β-d glucan), เฮเทอโรโพลีแซคคาไรด์ (heteropolysaccharide) และไกลโคโปรตีน (glycoprotein)
- โปรตีน ได้แก่ LZ-8
- นิวคลีโอไทด์ ได้แก่ อดีโนซีน และ 5-deoxy-5’methylsulfinylad-nosine
คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค(1,3,4,5)
จากการศึกษาและวิจัยที่ผ่านมาพบว่าเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการป้องกัน
และรักษาโรคหลายประการอันได้แก่ ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน, ต้านอักเสบ,
ต้านหลอดเลือดแข็ง, บรรเทาอาการปวด, ป้องกัน และต้านมะเร็ง, ช่วยให้นอนหลับง่าย, ต้านแบคทีเรีย,
ต้านไวรัส, ลดระดับไขมัน, ต้านการสร้างผังผืดที่ตับ, ปกป้องตับ, ต้านเบาหวาน
ลดระดับน้ำตาลในเลือด, ต้านออกซิเดชั่นกำจัดอนุมูลอิสระ, ต้านภาวะชราภาพ
และต้านแผลในกระเพาะอาหาร
เห็ดหลินจือยังถือว่าเป็นสมุนไพรทางเลือกในการร่วมใช้รักษาโรคลูคิเมีย,
มะเร็ง, ตับอักเสบ และเบาหวาน ซึ่งคุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรคของเห็ดหลินจือที่เป็นที่สนใจศึกษาคือ
การควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน และการต้านมะเร็ง
ป้องกันและต้านมะเร็ง
ต้านเนื้องอก
ทั้งโพลีแซคคาไรด์
และไตรเตอร์ปีนอยด์ที่พบในเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการยั้บยั้งการเจริญของเนื้องอก
เช่น กรดกาโนเดอริกที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง
กระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งและสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการลุกลามของเนื้องอก
หรือเบต้าดีกูลแคนที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคุ้มกันให้เข้าไปยับยั้งการเจริญของเนื้องอกได้
ป้องกันสารเคมี และรังสี
ความสามารถในการป้องกันสารเคมี
และรังสีนั้นเป็นผลมาจากการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นโดยโพลีแซ็คคาไรด์สกัดจากเห็ดหลินจือ
รูปแสดงกลไกการต้าน และป้องกันมะเร็งของสารสกัดจากเห็ดหลินจือ ที่มาของรูป(3) |
ยับยั้งเอนไซม์
กรดกาโนเดอริกที่พบในเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์
farnesyl protein transferase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของโรคมะเร็ง
กระตุ้นให้ผลิตไซโตไคน์
สารสกัดด้วยน้ำของเห็ดหลินจือสามารถกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันสร้างไซโตไคน์ต่างๆที่มีบทบาทในการตายของเซลล์มะเร็งเช่น
TNF-α
ต้านอักเสบ
กรดการโนเดอริกที่พบในเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์
phospholipase
A2 (PLA2)
ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในร่างกาย
ซึ่งคุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเช่น
โรคข้ออักเสบ โรคหอบ และโรคสะเก็ดเงินได้
ควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน
เพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกัน
สารสกัดจากเห็ดหลินจือซึ่งได้แก่ โพลีแซคคาไรด์, LZ-8 และสารสกัดต่างๆ มีคุณสมบัติในการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (mitogenic
activity) โดยสามารถกระตุ้นให้ลิวโคไซท์ผลิตไซโตไคน์ IL-2 ได้
มีการศึกษาที่พบว่าสารสกัดจากเห็ดหลินจือสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันแม้ว่าสัตว์ทดลองจะได้รับยากดภูมิก็ตาม
ซึ่งคุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดที่ผลข้างเคียงของการรักษาทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลง
เพิ่มการผลิตไซโตไคน์ต่างๆของเซลล์ภูมิคุ้มกันในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม
สารสกัดเห็ดหลินจือด้วนน้ำสามารถกระตุ้นให้ T Cell และแมคโครฟาก ผลิตไซโตไคน์ TNF-α, IL-1b และIL-6 เป็นต้น
ลดการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดการอักเสบ
สารสกัดเห็ดหลินจือด้วยน้ำสามารถกระตุ้นให้ลิวโคไซท์ผลิตไซโตไคน์
IL-10 ซึ่งเป็นไซโตไคน์ที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เพชรฆาต (natural
killer cell)
สารสกัดเห็ดหลินจือด้วยน้ำสามารถเพิ่มการทำลายเซลล์เนื้องอกของเซลล์เพชรฆาตในหนูทดลอง
ลดการผลิตสารก่อภูมิแพ้ของแมสต์เซลล์ (mast cell)
สารสกัดเห็ดหลินจือด้วยน้ำ , เมทานอล
และคอลโรฟอร์ม สามารถยับยั้งการปล่อยฮิสตามีนจากแมสต์เซลล์ของหนูทดลองได้
กระตุ้นระบบคอมพลีเมนต์ (complement
system)
สารสกัดจากเห็ดหลินจือสามารถกระตุ้นระบบคอมพลีเมนต์ทั้งทางตรง (classical
pathway) และทางอ้อม (alternative pathway) โดยมีการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่ได้รับสารสกัดจากเห็ดหลินจือจะมีระดับ
C3 ในซีรัมเพิ่มขึ้น
ปกป้องตับ
สารสกัดจากเห็ดหลินจือได้แก่ โพลีแซคคาไรด์
หรือไตรเตอร์ปินอยด์ สามารถปกป้องตับจากพิษของสารเคมีในสัตว์ทดลอง
และสามารต้านไวรัสตับอักเสบชนิดบีได้ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
ลดระดับน้ำตาลในเลือด
สารสกัดเห็ดหลินจือด้วยน้ำสามารถลดการเพิ่มของระดับน้ำตาล
และอินซูลินในเลือดในสัตว์ทดลองที่ได้รับการกรอกสารละลายน้ำตาล
โดยกลไกในการลดระดับน้ำตาลนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องเพิ่มระดับอินซูลินในเลือด
เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่พบว่าสารสกัดจากเห็ดหลินจือสามารถลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด
(HbA1C), ระดับน้ำตาลภายหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลภายหลังมื้ออาหารได้
เพิ่มประสิทธิภาพระบบหมุนเวียนเลือด
และการทำงานของหัวใจ
สารสกัดจากเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการลดระดับคอลเลสเตอรอล
และไขมันในเลือดของสัตว์ทดลอง และยังสามารถลดความดันโลหิตทั้งในสัตว์ทดลอง
และผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ต้านแบคทีเรีย และไวรัส
ในเห็ดหลินจือมีสารที่มีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียทั้งแกรมบวก
และแกรมลบ และยังพบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะบางตัวเมื่อมีการใช้ร่วม
สารสกัดจากเห็ดหลินจือสามารถต้านแบคทีเรียเฮลิโคแบกเตอร์ไพโรไล
(Helicobactor
pyroli)
ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ไตรเตอร์ปินอยด์ทีพบในเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการต้านไวรัสเอชไอวี
(HIV) ส่วนโพลีแซคคาไรด์ก็มีคุณสมบัติในการต้านไวรัสตับอักเสบ ทั้งนี้อาจมาจากคุณสมบัติในการควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน
การนำไปใช้
ถ้าจะดื่มเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรทั่วไป
ไม่ควรใช้เกิน 1.5 กรัมต่อวัน(6) หรือ
ใช้ดอกเห็ดหลินจือฝานบางๆ ประมาณ 2-3 ชิ้น ต้มในน้ำเดือดนาน 10-15 นาที
ใช้ดื่มแทนน้ำได้ตลอดเวลา มีรสขมบ้างเล็กน้อย สรรพคุณช่วยให้สดชื่น
เสริมภูมิต้านทาน(7)
แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมากกว่านี้จัดเป็นยาควรปรึกษาเภสัชกร
หรือแพทย์แผนโบราณก่อนรับประทาน
ที่มา
- Wasser, S. P. (2005). Reishi or Ling Zhi (Ganoderma lucidum). Encyclopedia of Dietary Supplements, 603-622.
- Costa, D., Dacey, C., MBA, N. G., Shaffer, M., Varghese, M., Vi3arian, N., & Weissner, W. (2010). Reishi mushroom (Ganoderma lucidum): systematic review by the Natural Standard Research Collaboration. Journal of the Society for Integrative Oncology, 8(4), 148.
- Kao, C. H., Jesuthasan, A. C., Bishop, K. S., Glucina, M. P., & Ferguson, L. R. (2013). Anti-cancer activities of Ganoderma lucidum: active ingredients and pathways. Functional Foods in Health and Disease, 3(2), 48-65.
- Jin, X., Ruiz Beguerie, J., Sze, D. M. Y., & Chan, G. C. (2012). Ganoderma lucidum (Reishi mushroom) for cancer treatment. Cochrane Database Syst Rev,6.
- Zhu, X. L., Chen, A. F., & Lin, Z. B. (2007). < i> Ganoderma lucidum</i> polysaccharides enhance the function of immunological effector cells in immunosuppressed mice. Journal of ethnopharmacology, 111(2), 219-226.
- กองควบคุมอาหาร. (2552). บัญชีพืชที่อนุญาติให้ใช้ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- เดลินิวส์. (2556). แนะผู้ป่วยโรคมะเร็งใช้ "เห็ดหลินจือ" ต้มดื่มแทนน้ำ (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.dailynews.co.th/Content/regional/14652/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น