หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มะตูม เพื่อสุขภาพ

มะตูมแก้เหนี่อย

เวลาเหนี่อยๆ เพลียๆ หาน้ำมะตูมมาดื่มอาจทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้  เพราะผลมะตูมเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้อ่อนเพลีย  นอกจากนี้ยังแก้กระหายน้ำ ขับลม แก้ท้องร่วง  บรรเทาอาการท้องผูก  ช่วยระบบย่อยอาหาร  คลายเครียด และทำให้มีสมาธิดี

มารู้จักมะตูมกันก่อน

มะตูม (Bael Fruit) ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันคือ Aegle marmelos (Linn.) เป็นพืชวงศ์ (Family) rutaceae  ซึ่งเป็นวงศ์ที่พืชมีกลิ่นหอม 
Photo CR: http://culinaryadventuresofthespicescribe.
wordpress.com/












Photo CR: www.herbsign.com

มะตูมเป็นสมุนไพรที่สำคัญในการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย, พม่า และศรีลังกา (แต่เดิมเรียกซีลอน)  โดยสามารถใช้ได้ทั้งส่วน ราก ใบ และผล  

รากมะตูมจะใช้ในการรักษาความผิดปรกติของหัวใจ เจ็บหน้าอก อาการไข้ โรคทางเดินปัสสาวะ และโรคจิตเภท  ส่วนใบมะตูมมีฤทธิ์สมาน ช่วยระบาย ช่วยย่อย ลดไข้ รักษาโรคหู และตาอักเสบ  ผลมะตูมถ้าเป็นผลดิบจะใช้รักษาโรคท้องร่วงและโรคบิด ส่วนผลสุกมีฤทธิ์สมาน ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบาย บำรุงและฟื้นฟูร่างกาย ช่วยย่อย บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม1,2

สารสำคัญที่พบในผลมะตูม

สารประกอบคูมาริน (เช่น  marmelosin, marmelide, marmesin, luvangetin, aurapten, psoralen และ imperatorin), อัลคาลอยด์ (เช่น  aeglin และ aegelenine), แทนนิน และโพลีแซคคาไรด์ 1,2

การนำผลมะตูมไปใช้ในการป้องกันและรักษาโรค

ผลมะตูมมีคุณสมบัติในการต้านแผลในกระเพาะอาหาร, ต้านเบาหวาน, ลดภาวะไขมันในเลือดสูง, เพิ่มประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย และต้านจุลชีพ1,2

ผลมะตูมกับความเหนี่อย เพลีย

ถ้าลองพิจารณาสรรพคุณของมะตูมตามการแพทย์แผนโบราณแล้วไม่ว่าจะเป็นการแพทย์อายุรเวช หรือ การแพทย์แผนไทย จะกล่าวถึงการบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย และทำให้สดชื่น  ทั้งนี้เพราะอะไร

ว่ากันว่ามะตูมมีคุณสมบัติเป็นสารปรับสมดุล (Adaptogen activity)

สารปรับสมดุลคือ สารที่มีคุณสมบัติที่ทำให้ร่างกายเราทำงานได้อย่างสมดุลทั้งในสภาวะปรกติ และสภาวะที่ร่างกายเกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น  พูดง่ายๆก็คือสารที่ทำให้ร่างกายเราทนต่อสภาพการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น

จากการศึกษาในหนูทดลองหลายๆแบบได้แก่ บังคับให้ว่ายน้ำจนเหนื่อยแล้วให้มาทดสอบการเคลื่อนไหว, ให้ว่ายในน้ำที่เย็น (อุณหภูมิ 20 องศา) และการตุ้นให้เกิดภาวะเครียด  พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากผลมะตูมจะมีการเคลื่อนไหวหลังว่ายน้ำที่ดีกว่า  สามารถว่ายในน้ำเย็นได้นานกว่า และมีค่าที่บ่งชี้ถึงการปรับดุลในภาวะเครียดที่ดีกว่า3

สารสกัดจากมะตูมมีคุณสมบัติที่ทำให้คลายเหนื่อย

โดยชะลอการสะสมกรดแลกติก เพิ่มการนำไขมันไปใช้ และเพิ่มการสังเคราะห์กล้ามเนื้อในหนูที่ทำการทดสอบว่ายน้ำ  ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีส่วนช่วยในการลดความเหนี่อยล้า และเพิ่มความทนทานในการออกกำลังกายมากขึ้น4

ถึงแม้ว่ายังมีงานวิจัยไม่มากนักเกี่ยวกับสรรพคุณการบำรุงกำลัง แก้อาการเหนื่อยล้าของมะตูม  แต่ผลของการศึกษาที่กล่าวมาในข้างต้นก็พอจะชี้ให้เห็นว่าภูมิปัญาโบราณกล่าวไว้ไม่ผิด

ถ้ารู้สึกเหนื่อยเพลียไม่ว่าจากงาน หรือออกกำลังกาย หาน้ำมะตูมมาทานให้ชื่นใจก็ดีเหมือนกันน่ะคะ

ที่มา
Maity, P., Hansda, D., Bandyopadhyay, U., & Mishra, D. K. (2009). Biological activities of crude extracts and chemical constituents of Bael, Aegle marmelos (L.) Corr. Indian J Exp Biol, 47(11), 849-861.
Dhankhar, S., Ruhil, S., Balhara, M., Dhankhar, S., & Chhillar, A. K. (2011). Aegle marmelos (Linn.) Correa: A potential source of Phytomedicine. J Med Plant Res, 5(9), 1497-1507.
Duraisami, R., Mohite, V. A., & Kasbe, A. J. (2010). Antistress adaptogenic activity of standardized dried fruit extract of Aegle marmelos against diverse stressors. Asian J Pharm Clin Res, 3(4), 1-3.

Nallamuthu, I., Tamatam, A., & Khanum, F. (2014). Effect of hydroalcoholic extract of Aegle marmelos fruit on radical scavenging activity and exercise-endurance capacity in mice. Pharmaceutical biology, 52(5), 551-559.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น