หน้าเว็บ

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อบเชยจีนสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

อบเชยจีน(Cassia)

ชื่อวงศ์(Family name) : Lauraceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum Cassia Presl.

เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน และมีการปลูกแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียทางใต้ และตะวันออก เช่นประเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ลาว ไต้หวัน และเวียดนาม(1)

อบเชยจีนเป็นหนึ่งในเครื่องเทศสกุล Cinnamomum ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันกับเครื่องเทศซินนามอน(Cinnamon) หรือ อบเชย(ที่นิยมใส่ในกาแฟ โกโก้ หรือ ขนมอบบางชนิด) โดยอบเชย หรือ ซินนามอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum Zeylanicum  ซึ่งในต่างประเทศมีการเรียกอบเชยจีนว่า Cinnamon มากกว่าใช้คำว่า Cassia

อบเชยจีนได้ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณของจีน โดยเป็นสมุนไพร 1 ใน 50 สมุนไพรพื้นฐานของจีน(1)

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในเปลือกอบเชยจีน(2)

ซินนามัลดีไฮด์(Cinnamaldehyde) 2.82-0.92%, กรดซินนามิก(Cinnamic acid) 0.15-0.03% และอื่นๆ เช่น ซินนามิลอัลกอฮอล์(Cinnamyl alcohol)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค

ต้านเบาหวาน

คุณสมบัติเด่นของอบเชยจีนคือความสามารถในการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยมีการศึกษามากมายที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าสามารต้านโรคเบาหวานได้ เช่นมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบไม่พึ่งอินซูลิน(non insulin dependent diabetes mellitus:NIDDM) หรือผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่2 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 6 กลุ่ม 3 กลุ่มแรกได้รับอบเชยจีนในปริมาณ 1, 3 และ 6 กรัม ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือได้รับยาหลอก(Placebo) เป็นเวลา 40 วัน พบว่าทั้ง 3 กลุ่มที่ได้รับอบเชยจีนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 18-29% ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกไม่มีการเปลี่ยนแปลง(3)  เช่นเดียวกับอีกการศึกษาหนึ่งคือ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มทดลองได้รับอบเชยจีนในปริมาณวันละ 8 กรัม เป็นเวลา 40 วัน ส่วนอีกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม พบว่ากลุ่มทดลองมีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหลังอดอาหาร 8 ชม.(Fasting blood sugar) และหลังมื้ออาหาร(Post prandial blood sugar)อย่างมีนัยสำคัญ(ตามตารางด้านล่าง) ส่วนกลุ่มควบคุมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ(4)


เริ่มต้น
20 วัน
40 วัน
ระดับน้ำตาลภายหลังอดอาหาร 8 ชม.(mg/dl)
148.73
134.0
120.66
ระดับน้ำตาลภายหลังมื้ออาหาร(mg/dl)
187.66
172.93
163.6


ต้านอักเสบ

สารสกัดอบเชยจีนด้วยน้ำมีคุณสมบัติในการต้านอักเสบที่เกิดจากการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช่นการแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง(passive cutaneous anaphylaxis), หลอดเลือดอักเสบที่ผิวหนัง(cutaneous vasculitis), ภาวะไตอักเสบ(nephrotoxic serum nephritis), การอักเสบบวมแดงเฉพาะที่(arthus reaction)(5) ซึ่งกลไกในการต้านอักเสบส่วนหนึ่งอาจมาจากความสามารถในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ของเซลล์ภูมิคุ้มกัน(6)

ต้านอนุมูลอิสระ

สารสำคัญในอบเชยจีนมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูง(7)

ต้านมะเร็ง

  • มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการตาย(Apoptosis)ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว(5), มะเร็งปากมดลูก(8)
  • มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งได้แก่ เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งผิวหนัง(5)
  • สามารถยับยั้งการเจริญ(Antiproliferative) และกระตุ้นการตายเซลล์มะเร็งตับ(9)


ต้านแผลในกระเพาะอาหาร

พบว่าสามารถบรรเทาการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในหนูทดลองซึ่งกลไกการทำงานยังไม่แน่ชัดแต่อาจเกี่ยวข้องกับการหลั่งเมือกของกระเพาะที่ถูกกระตุ้นโดยเซโรโทนิน(5)

ลดระดับไขมัน และคลอเรสเตอรอลในเลือด

จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถเพิ่มคลอเรสเตอรอลชนิดที่ดี(HDL) และลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้ และจากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานพบว่านอกจากจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วยังช่วยปรับระดับไขมันต่างในเลือดให้ดีขึ้นโดยลดระดับคลอเรสเตอรอลรวม คอลเรสเตอรอลชนิดเลว(LDL) และไตรกลีเซอร์ไรด์ได้(5,3)

ต้านจุลชีพ

น้ำมันหอมระเหยในอบเชยจีนมีความสามารถในการต้านจุลชีพได้แก่ แบคทีเรีย(10,11), เชื้อรา และยีสต์(11) และยังสามารถยับยั้งการเจิรญ และกิจกรรมของแบคทีเรีย Helicobactor pyroli ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร(12)

สามารถใช้รักษาโรคบิดเฉียบพลันได้โดยจากการศึกษาในประเทศจีนให้ผู้ป่วยรับประทานอบเชยจีน 1.2-1.5 กรัม ติดต่อกัน 2 ครั้งโดยแต่ละครั้งห่างกัน 1 ชม. และหลังจากนั้นให้รับประทานอีกติดต่อกัน 3 ครั้งโดยครั้งนี้ห่างกัน 2 ชม.(15)

ต้านไวรัส

จากการศึกษาพืชสมุนไพรที่ใช้ในอินเดีย 69 ชนิดพบว่าสารสกัดจากเปลือกอบเชยจีน(Cinnamomum cassia) และผลโคกกระออม(Cardiospermum helicacabumมีความสามารถในการต้านไวรัส HIV ได้ดีที่สุด(13) และยังมีคุณสมบัติในการต้านไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่(14)

ต้านซึมเศร้า และช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง(5)


ลดความดันโลหิต(5)


การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ

อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน บำรุงธาตุไฟในระบบไต ม้าม หัวใจ และตับ(2) มักใช้ในการรักษาโรคหวัด, ลดไข้, ท้องเสีย, โรคอาหารไม่ย่อย(dyspepsia), โรคกระเพราะอาหารอักเสบ(gastritis), เลือดไหลเวียนไม่ดี และโรคที่มีการอักเสบต่างๆ(5,9)

การแพทย์แผนจีนใช้ 1-4.5 กรัม ต้มน้ำดื่ม(15)

ความเป็นพิษ

อบเชยจีนจัดเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัยถ้ารับประทานในปริมาณที่ใช้ในอาหาร อาหารเสริม หรือยาสมุนไพร แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมากๆ หรือไม่ได้รับประทานตามคำแนะนำจากฉลาก หรือ แพทย์ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางคน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับตับเนื่องจากในอบเชยจีนมีสารคูมาริน(Coumarin) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ

คูมารินแท้จริงแล้วจัดเป็นยาและมีการใช้รักษาในผู้ป่วย เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อ อาการบวมน้ำ และโรคอ่อนเพลียเรื้อรังเป็นต้น ปริมาณการใช้มีตั้งแต่ 25 มก. ไปจนถึง 2000 มก.(2กรัม) ต่อวัน ซึ่งพบว่าเกิดผลเสียต่อตับบ้างในผู้ป่วยบางร้าย เช่นจากการใช้คูมารินให้ผู้ป่วยในปริมาณ 100 มก.ต่อวันเป็นเวลา 1 เดือน แล้วตามด้วย 50 มก. เป็นเวลา 2 ปีพบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ตับ 0.37% (16)

สำหรับเปลือกอบเชยจีนจะมีปริมาณคูมารินอยู่ประมาณ 0.26-0.03%(2)  ถ้าคำนวณที่ปริมาณการใช้คูมารินเป็นยาที่ 50 มก. จะเทียบเท่ากับอบเชยจีนปริมาณ 19-170 กรัม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการได้รับในปริมาณนี้ในระยะเวลายาวๆอาจมีปัญหาต่อตับได้ แต่อย่างไรก็ดีปริมาณข้างต้นเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูงกว่าปริมาณที่ใช้ในอาหาร หรือยาสมุนไพรทั่วไป

เนื่องจากคูมารินสามารถพบได้ในอบเชย(ทั้งซินนามอน และอบเชยจีน) เพื่อเป็นแนวทางในการไม่ให้ได้รับคูมารินมากเกินไปองค์การความปลอดภัยของอาหารยุโรป(European Food Safety Authority) ได้กำหนดปริมาณที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน(Tolerable Daily Intake: TDI)ในระยะยาว(ตลอดชีวิต) ของคูมาริน คือ 0.1 มก.ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก.(17) ถ้าลองคำนวณที่น้ำหนักตัว 50 กก. หมายความว่าจะสามารถรับคูมารินได้ที่ 5 มก.ต่อวัน ซึ่งจะมาจากเปลือกอบเชยจีนประมาณ 2-17 กรัม ซึ่งเป็นช่วงปริมาณที่ใช้ในอาหาร อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรตามปรกติ

ค่า LD50 ในการให้สารซินนามิกอัลดีไฮด์ทางปากกับหนูคือ 2225 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.(2)

ค่า LD 50 ในการให้สารสกัดด้วยน้ำทางปากกับหนูถีบจักรโดยมีปริมาณเทียบเท่าผงยาคือ 120 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.(15)

หมายเหตุ LD50 ปริมาณสารที่ทำให้สัตว์ทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งตาย

ท้ายนี้ขอกล่าวว่าสมุนไพรเป็นพืชที่มีสรรพคุณในทางยาในการเลือกรับประทานขอให้เลือกรับประทานจากแหล่งที่มีการรับรองจากองค์การอาหารและยา หรือ กระทรวงสาธารณสุข และควรรับประทานตามคำแนะนำตามฉลาก หรือควรศึกษาข้อมูล และปรึกษาผู้เชียวชาญเฉพาะด้านก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย

ที่มาของข้อมูล
  1. Wikipedia. (2013). Cinnamomum Cassia (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Cinnamomum_cassia
  2. Nguyen Kim Dao, (2003). Chinese Cassia. In Cinnamon and Cassia: The Genus Cinnamomum (ed. P. N. Ravindran, K Nirmal-Babu, M Shylaja) pp. 156-184. CRC Press.
  3. Khan, A., Safdar, M., Khan, M. M. A., Khattak, K. N., & Anderson, R. A. (2003). Cinnamon improves glucose and lipids of people with type 2 diabetes.Diabetes care, 26(12), 3215-3218.
  4. Soni, R., & Bhatnagar, V. (2009). Effect of Cinnamon (Cinnamomum Cassia) intervention on Blood Glucose of Middle Aged Adult Male with Non Insulin Dependent Diabetes Mellitus (NIDDM). Studies on Ethno-Medicine, 3(2), 141-144.
  5. Shen, Y., Jia, L. N., Honma, N., Hosono, T., Ariga, T., & Seki, T. (2012). Beneficial Effects of Cinnamon on the Metabolic Syndrome, Inflammation, and Pain, and Mechanisms Underlying These Effects-A Review. Journal of Traditional and Complementary Medicine, 2(1), 27.
  6. Lee, H. S., Kim, B. S., & Kim, M. K. (2002). Suppression effect of Cinnamomum cassia bark-derived component on nitric oxide synthase. Journal of agricultural and food chemistry, 50(26), 7700-7703.
  7. Jang, H. D., Chang, K. S., Huang, Y. S., Hsu, C. L., Lee, S. H., & Su, M. S. (2007). Principal phenolic phytochemicals and antioxidant activities of three Chinese medicinal plants. Food chemistry, 103(3), 749-756.
  8. Koppikar, S. J., Choudhari, A. S., Suryavanshi, S. A., Kumari, S., Chattopadhyay, S., & Kaul-Ghanekar, R. (2010). Aqueous cinnamon extract (ACE-c) from the bark of Cinnamomum cassia causes apoptosis in human cervical cancer cell line (SiHa) through loss of mitochondrial membrane potential. BMC cancer, 10(1), 210.
  9. Ng, L. T., & Wu, S. J. (2011). Antiproliferative activity of Cinnamomum cassia constituents and effects of pifithrin-alpha on their apoptotic signaling pathways in Hep G2 cells. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine,2011.
  10. Chaudhry, N. M. A., & Tariq, P. E. R. W. E. E. N. (2006). Anti-microbial activity of cinnamomum cassia against diverse microbial flora with its nutritional and medicinal impacts. Pakistan Journal of Botany, 38(1), 169.
  11. Ooi, L. S., Li, Y., Kam, S. L., Wang, H., Wong, E. Y., & Ooi, V. E. (2006). Antimicrobial activities of cinnamon oil and cinnamaldehyde from the Chinese medicinal herb Cinnamomum cassia Blume. The American journal of Chinese medicine, 34(03), 511-522.
  12. Tabak, M., Armon, R., & Neeman, I. (1999). Cinnamon extracts’ inhibitory effect on< i> Helicobacter pylori</i>. Journal of ethnopharmacology, 67(3), 269-277.
  13. Premanathan, M., Rajendran, S., Ramanathan, T., Kathiresan, K., Nakashima, H., & Yamamoto, N. (2000). A survey of some Indian medicinal plants for anti-human immunodeficiency virus (HIV) activity. The Indian journal of medical research, 112, 73.
  14. Hayashi, K., Imanishi, N., Kashiwayama, Y., Kawano, A., Terasawa, K., Shimada, Y., & Ochiai, H. (2007). Inhibitory effect of cinnamaldehyde, derived from Cinnamomi cortex, on the growth of influenza A/PR/8 virus< i> in vitro</i> and< i> in vivo</i>. Antiviral research, 74(1), 1-8.
  15. กรมพัฒณาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, (2551). อบเชยจีน. ใน คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. (เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, บรรณาธิการ). หน้า 206-208. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิม องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
  16. European Food Safety Authority. (2008). Coumarin in flavourings and other food ingredients with flavouring properties. The EFSA Journal 793, 1-15
  17. AFC, 2004; AFC; Opinion of the scientific panel on food additives,flavourings, processing aids and materials in contact with food (AFC) on a request from the Commission related to Coumarin. EFSA Journal, 104 (2004), pp. 1–36.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น