หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ชะเอมเทศ เพื่อสุขภาพ

ชะเอมเทศ (Licorice)

ชื่อวงศ์                          Fabaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์              Glycyrrhiza glabra L.

ชะเอมเทศเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศแถบเมดิเตอร์ริเนียน ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชีย  ซึ่งจะมีปลูกในประเทศ อิตาลี, รัฐเซีย, ฝรั่งเศษ, อังกฤษ, อเมริกา, เยอรมัน, จีน และทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย(1)


รากของชะเอมเทศจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการนำไปใช้ในการป้องกัน หรือรักษาโรค  โดยรากของมันจะมีรสหวานชุ่มคอจึงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบในยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณพื้นบ้านอื่นๆซึ่งได้แก่ ขับลม บำรุงร่างกาย แก้คัน ขับเลือดเน่า ช่วยให้ผ่อนคลาย จิตใจสดชื่น(2)

ที่มาภาพ Vibha, et al. (2009)

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบในรากชะเอมเทศ(1,3, 4)

สารกลุ่มไตรเตอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อว่า กลีซีร์ริซิน (Glycyrrhizin)  ซึ่งเป็นซาโปนินที่มีรสหวานกว่าน้ำตาล 60 เท่า  เมื่อเราได้รับไกลซีไรซินเข้าไปทางปาก กรดกลีซีร์ริซิก (Glycyrrhizic acid) จะถูกแบคทีเรียในลำไส้เล็กจะทำให้แตกตัวกลายเป็นกรดไกลซีรีติก (Glycyrrhetic acid)  ส่วนไตรเตอร์ปีนอื่นๆที่พบได้แก่ liquiritic acid, glycyrretol, glabrolide, isoglaborlide และ licorice acid

ฟลาโวนอยด์ ได้แก่ liquiritin, rhamnoliquiritin, neoliquiritin, liquiritigenin, chalcones isoliquiritin, isoliquiritigenin, neoisoliquiritin, licuraside, glabrolide, licochalcone A และ licoflavonol เป็นต้น

ไอโซฟลาโวน ได้แก่ glabridin, galbrene, glabrone, shinpterocarpin, licoisoflavones A และ B, formononetin, glyzarin, kumatakenin และ kanzonol R เป็นต้น

สารประกอบที่ระเหยได้ ได้แก่ pentanol, hexanol, linalool oxide A และ B, tetramethyl pyrazine, terpinen-4-ol,  α-terpineol และ geraniol เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกัน และรักษาโรค(1,3,4, 5)

ต้านไวรัส
คุณสมบัติการต้านไวรัสถือเป็นคุณสมบัติเด่นของสารสกัดจากรากชะเอมเทศ จากรายงานที่ผ่านมาพบว่าสารสกัดจากรากชะเอมสามารถต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น HIV-1, ไวรัสไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis), ไวรัสไข้เหลือง, ไวรัสซาร์ (SARS), ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสตับอักเสบ, ไวรัสวัคซีเนีย (vaccinia virus)ที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษ, ไวรัสโรคเริม (HSV-1), ไวรัสโรคงูสวัด (herpes zoster virus) และ ไวรัสโรคปากอักเสบผุผอง (vesicular stomatitis virus) เป็นต้น

ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค
สารสกัดจากรากชะเอมสามารถยั้บยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายสายพันธุ์ทั้งแกรมบวก และแกรมลบ เช่น Salmonella typhi(โรคไข้ไทฟอยด์), enterotoxigenic E. coli (ETEC E. coli) (อาหารเป็นพิษ), Staphylococcus aureus (อาหารเป็นพิษ) และ Streptococcus pyogenes (โรคไข้รูมาติก) เป็นต้น

กลไกในการต้านไวรัสของสารสกัดจากรากชะเอมเทศนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สันนิฐานว่าน่าจะมาจากการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการจัดการไวรัสต่างๆได้ดีขึ้น

ต้านเชื้อยีสต์ และรา
Glabridin ฟลาโวนอยด์ที่พบในรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อยีสต์และราเช่น เชื้อราแคนดิดา (Candida albicans)  และยังสามารถยั้บยั้งเชื้อราแคนดิดาสายพันธุ์ที่ดื้อยาได้อีกด้วย

ต้านโปรโตซัว
Licochalcone A ฟลาโวนอยด์ที่พบในรากชะเอมเทศสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อไข้มาเลเรีย (Plasmodium falciparum) ได้

ต้านออกซิเดชั่น และอนุมูลอิสระ
สารสกัดจากรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการเข้าจับกับอนุมูลไนตริกออกไซด์, ซุปเปอร์ออกไซด์, ไฮดรอกซิลได้ และเหล็กอิสระได้  จึงสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นภายในร่างกาย เช่น การออกซิเดชั่นของไขมันในเซลล์หรือเนื้อเยื้อต่างๆ  ซึ่งความสามารถในการต้านออกซิเดชั่นนี้จึงส่งผลให้สารสกัดจากรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการต้านอักเสบได้อีกด้วย

ต้านอักเสบ
เมตาบอไลท์ของกลีซีร์ริซิน (glycyrrhizin) ซึ่งก็คือ กรดเบต้ากลีซิร์ริตินิก (β glycyrrhitinic acid) มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบ  โดยยับยั้งการสลายฮอร์โมนกูลโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทในการต้านอักเสบของร่างกาย  และยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันแบบคอมพลีเมนท์ทางตรง (classical complement pathway) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบได้  นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของยาไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ที่ใช้ในการรักษาการอักเสบ 

กรดกลีซีร์ริซิก (glycyrrhizic acid) ในชะเอมเทศสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (cyclooxygenase) และการผลิตพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ  ซึ่งผลนี้จะส่งผลทางอ้อมในการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือดเนื่องจากการอักเสบได้

ด้วยคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นของกลีซีร์ริซินจึงสามารถเข้าไปจับกับอนุมูลอิสระที่เกิดจากการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม จึงลดการอักเสบลงได้

ทั้งนี้การได้รับสารสกัดจากรากชะเอมเทศไม่ว่าจะในรูปของกลีซีร์ริซิน หรือ เมตาบอไลท์ของมันก็จะให้ผลในการต้านอักเสบเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ฟลาโวนอยด์อื่นๆที่พบในรากชะเอมเทศก็มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบ ซึ่งได้แก่ liquiritoside, glabridin, glyderinine และ lichochalocone A เป็นต้น

ปกป้องตับ
ฟลาโวนอยด์ในรากชะเอมเทศที่มีบทบาทเด่นในการปกป้องตับคือ กลีซีร์ริซิน (glycyrrhizin) โดยมีการศึกษามากมายทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองที่พบว่าสามารถป้องกันตับจากสารเคมี และสารก่อมะเร็งต่างๆได้  ทั้งนี้กลีซีร์ริซินได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีเรื้อรัง (chronic hepatitis C) ในประเทศญี่ปุนมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว  

ยา Stronger Neo-Minophagen C เป็นยามีที่มีกลีซิร์ริซินเป็นส่วนประกอบสำคัญได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคตับอักเสบชนิดซีโดยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีค่าเอนไซม์ที่บ่งชี้ว่าตับถูกทำลายลดลง เอนไซม์เหล่านั้นได้แก่ แอสปาเตททรานซามิเนส (aspartate transaminase), อะลานีนทรานซามิเนส (alanine transaminase) และแกมม่ากูลตามิลทรานส์เฟอเรส (gammaglutamyltransferase)  โดยพบว่าตัวยานี้สามารถลดการอักเสบที่ตับได้แต่ก็มีพบผลข้างเคียงบ้างในบางราย

ลดระดับน้ำตาลในเลือด
อะกลัยโคน (aglycone) ของกลีซีร์ริซิน (glycyrrhizin) ที่ชื่อว่า กรด 18 เบต้ากลีซีร์รีทินิก (18β-glycyrrhetinic acid) สามารถปรับพายธิสภาพต่างๆของหนูทดลองที่เป็นเบาหวานให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นจนเกือบจะเข้าสู่ภาวะปรกติได้

ต้านมะเร็ง
กลีซีร์ริซิน และสารประกอบอื่นๆในรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเซลล์ที่ผิดปรกติ รวมถึงเนื้องอกต่างๆของมะเร็งเต้านม, มะเร็งตับ และมะเร็งผิวหนัง

ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอ
กลีซีร์ริซิน (glychyrrhizin) ในรากชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการละลายเสมหะ และทำให้ชุ่มคอบรรเทาอาการไอได้

ต้านแผลในกระเพาะอาหาร
กลีซีร์ริซิน (glychyrrhizin) ช่วยเพิ่มการสมานแผลในกระเพาะอาหาร และปกป้องเยื้อบุกระเพาะอาหารจากยาแอสไพริน นอกจากนี้ฟลาโวนอยด์ที่พบในรากชะเอมเทศยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Helicobactor pyroli ซึ่งเป็นเชื่อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

สารสกัดจากชะเอมเทศที่มีการสกัดเอากลีซีร์ริซินออกสามารถเพิ่มการหลั่งของเมือกในกระเพาะอาหาร และช่วยเร่งการสมานแผลในกระเพาะอาหารได้

ปรับสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
จากการศึกษาในหลอดทดลองพบประสิทธิภาพในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยเพิ่มการผลิต ลิมโฟซัยท์ TCD69 และแมคโครฟาจ  นอกจากนี้ยังพบว่ากลีซีร์ริซิน (glychyrrhizin) สามารถลดการผลิตโกลบูลินที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิไวเกินหรือภูมิแพ้

ผลข้างเคียงจากการรับประทานรากชะเอมเทศ(2,3,6)

ถึงแม้ว่ารากชะเอมเทศจะมีคุณสมบัติที่มีประโยชน์มากมายในการป้องกันและรักษาโรค  แต่ก็มีผลข้างเคียงเหมือนกันเนื่องจากสารสกัดในชะเอมเทศมีคุณสมบัติในการป้องกันการสลายของฮอร์โมนกูลโคคอร์ติคอยด์ทำให้อาจมีการสะสมของฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป ทำให้ร่างกายเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) มีการกักเก็บโซเดียมมากขึ้นจนร่างกายมีน้ำเกิน จึงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และมีอาการบวมน้ำ

จากการทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี 24 คน แบงเปน 4 กลุมใหไดรับสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศในปริมาณ glycyrrhizin ขนาด 108, 217, 308 และ 814 มก. ตามลําดับ เปนเวลา 4 สัปดาห พบวาไมพบอาการขางเคียงใดๆ ในอาสาสมัครกลุมที่ 1 และ 2 แตพบวาอาสาสมัครที่ไดรับ glycyrrhizin ขนาด 814 มก. มีปริมาณโพแทสเซียมในเลือดลดลงอยางตอเนื่องตั้งแตสัปดาหแรกของการทดลอง และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

จากรายงานและผลการทดลองขางตนแสดงใหเห็นวาควรระมัดระวังการรับประทานชะเอมเทศในผูปวยที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีคําเตือนวาไมควรใชชะเอมเทศในขนาดที่มากกวา 50 ก./วัน เกินกวา 6 สัปดาห และควรระวังในการใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ

อย่างไรก็ดีในการนำชะเอมเทศไปใช้ทำเครื่องดื่มทางองค์การอาหารและยาของไทยอนุญาติให้ใช้ไม่เกิน 1.5 กรัมต่อวัน

ที่มา
  1. Parvaiz, M., Hussain, K., Khalid, S., Hussnain, N., Iram, N., Hussain, Z., & Ali, M. A. (2014). A Review: Medicinal Importance of Glycyrrhiza glabra L.(Fabaceae Family). Global Journal of Pharmacology, 8(1), 08-13.
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล. ชะเอมเทศกับความดันโลหิตสูง (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0050.pdf
  3. Vibha, J. B., Choudhary, K., Singh, M., Rathore, M. S., & Shekhawat, N. S. (2009). A study on pharmacokinetics and therapeutic efficacy of Glycyrrhiza glabra a miracle medicinal herb. Bot Res Intl, 2, 157-63.
  4. Jatav, V. S., Singh, S., Khatri, P., & Sharma, A. (2011). Recent pharmacological trends of Glycyrrhiza glabra Linn. Unani Res, 1, 1-11.
  5. Akram, M., Shahab, U., Afzal, A., Khan, U., Abdul, H., Mohiuddin, E., Asif, M., & Ali, S. S. M. (2011). Glycyrrhiza glabra L. (Medicinal use). J Med Plants Res, 5, 5658-5661
  6. กองควบคุมอาหาร. (2552). บัญชีพืชที่อนุญาติให้ใช้ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://newsser.fda.moph.go.th/ossc/tha/data_center/Data/พืชในเครื่องดื่มฯ.pdf

1 ความคิดเห็น:

  1. You may search for our products through the search bar on our website. If you would like to receive a copy of our product catalog, please contact us at info@alfa-chemistry.com. Glycyrrhizic Acid

    ตอบลบ