หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

โสม เพื่อสุขภาพ


โสมเอเชีย (Asian Ginseng)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Panax Ginseng C.A. Meyer
ชื่อวงศ์              Araliaceae
Photo Cr: http://www.thaibio.com/image/
data/Article/goodlife114003.jpg


โสม (Ginseng) เป็นพืชสมุนไพรที่มีประวัติการใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณมาช้านานนับกว่า 2000 ปีจนถึงปัจจุบันความนิยมในการใช้โสมบำรุงร่างกาย รักษา และป้องกันโรคก็ยังไม่เสื่อมคลาย ประกอบกับมีข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆมาสนับสนุน  ทำให้โสมจัดเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมและมีการนำไปใช้แพร่หลายทั่วโลก
ชื่อสกุล(genus)ของโสมคือคำว่า Panax ซึ่งมีความหมายในภาษากรีกว่า รักษาได้ทุกโรค (Pan = ทั้งหมด, axos = การรักษา) รากของโสมมีลักษณะคล้ายคนชื่อจีนของโสมจึงมีความหมายว่ารากคน ทำให้บางคนอาจเรียกว่าโสมคนและถูกเชื่อว่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญของมนุษย์คือ ร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ(1)

โสมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โสมเอเชีย (ซึ่งบางคนอาจเรียกโสมเกาหลี) เป็นโสมพันธุ์ที่มีการปลูกในแถบเอเชียอันได้แก่ ประเทศจีน และเกาหลี  โดยพบประวัติบันทึกในจีนช่วง 48 และ 33 ปีก่อนคริสต์กาล และส่วนในเกาหลีนั้นมีประวัติการปลูกเมื่อ 11 ปีก่อนคริสต์กาล  ส่วนโสมอีกประเภทคือ โสมอเมริกาซึ่งจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax quinquefolius L.  ซึ่งโสมทั้ง 2 ประเภทนี้จะมีปริมาณของสารสำคัญแต่ละตัวแตกต่างกันทำให้การนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพแตกต่างกัน


สำหรับโสมเอเชีย(Panax Ginseng C.A. Meyer) ยังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 แบบขึ้นอยู่กับกระบวนการแปรรูป โดยถ้ามีการแปรรูปแค่นำไปอบหรือตากแห้งเฉยๆเราจะเรียกว่าโสมขาว (white ginseng) แต่ถ้านำไปนึ่งก่อนนำไปทำแห้งจะทำให้สีของโสมเปลี่ยนจากสีขาวเป็นแดงจึงเรียกว่าโสมแดง (red ginseng) ซึ่งสีแดงที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการคาราเมล (caramelization) ของน้ำตาลเมื่อโดนความร้อนในรากโสม

โสมสด, โสมขาว และโสมแดง
Photo CR: http://www.koreanginsengs.com/

สารสำคัญที่พบในโสม

สารกลุ่มจิงเซนโนไซด์ (ginsenosides)

คือสารสำคัญที่พบในโสมซึ่งเป็นกลุ่มของไตรเตอร์ปีนซาโปนิน (titerpene saponins)  สารกลุ่มจิงเซนโนไซด์มีอยู่หลายชนิดแต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามลักษณะทางโครงสร้างเคมีคือ โพรโตพานาซาไดออล (protopanaxadiol,PD) ได้แก่ Rb1, Rb2, Rc, Rd, Rg3 และ Rh2  และ โพรโตพานาซาไตรออล (protopanaxatriol, PT) ได้แก่ Re, Rf, Rg1, Rg2 และ Rh1(2)

โสมเอเชีย และโสมอเมริกันจะมีปริมาณสารจิงเซนโนไซด์ชนิดต่างๆ แตกต่างกัน  จิงเซนโนไซด์หลักที่พบในโสมเอเชียคือ Rg1, Rb1 และ Rb2  ส่วนที่พบในโสมอเมริกันคือ Rb1, Rd และ Re(3)  โดยที่โสมเอเชียจะมี Rg1, Rb2 และ Rc ในปริมาณสูงกว่าโสมอเมริกัน และพบ Rf ซึ่งพบเฉพาะในโสมเอเชียเท่านั้น  นอกจากนี้เมื่อนำไปผ่านกระบวนการนึ่งเพื่อให้กลายเป็นโสมแดงจะมีสาร Rg3 และ Rh2 เกิดขึ้นมาแต่สาร Rg1, Rb2 และ Rc จะลดลงเนื่องจากถูกทำลายระหว่างกระบวนการ  ส่วนโสมอเมริกันนั้นจะมี Rb1, Rd และ Re ในปริมาณสูงกว่าโสมเอเชีย(2)

โดยปรกติจิงเซนโนไซด์จะมีคุณสมบัติในการลดการนำประจุบวก และเพิ่มการนำประจุลบเข้าสู่เซลล์ จึงทำให้เซลล์ผ่อนคลายซึ่งตามการแพทย์แผนจีนมักจะเรียกคุณสมบัติแบบนี้ว่าฤทธิ์เย็น หรือ “ยิน”(4) 

ปริมาณจิงเซนโนไซด์ที่พบในโสมโดยทั่วไปจะมีปริมาณ 3-4% ของน้ำหนัก(4)


จินโทนิน (gintonin)

คือส่วนที่ไม่ใช้ซาโปนินโดยเป็นสารประกอบเชิงซ้อนของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน (glycolipoprotein) ที่พบในโสม  จินโทนินจะมีคุณสมบัติในทางตรงกันข้ามกับจิงเซนโนไซด์คือเพิ่มการนำประจุบวกเข้าสู่เซลล์จึงมีฤทธิ์ไปในทางกระตุ้นซึ่งการแพทย์แผนจีนเรียกว่าฤทธิ์ร้อน หรือ “หยาง”(4)

ปริมาณจินโทนินที่พบในโสมโดยทั่วไปจะมีปริมาณ 0.2% ของน้ำหนัก(4)

หมายเหตุ    ตามการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าโสมเอเชียมีคุณสมบัติเป็นหยาง ส่วนโสมอเมริกันนั้นจะมีคุณสมบัติเป็นยิน

จินซาน (ginsan)

คือโพลีแซคคาไรด์ที่สกัดจากโสม มีคุณสมบัติเด่นในด้านควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน และลดการอักเสบ(7)

คุณสมบัติที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรค

โสมจัดเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจนอาจขนานนามได้ว่าเป็น เจ้าแห่งสมุนไพร (King of herbs)(1)  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่จะมีงานวิจัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของโสมในการนำไปใช้ในการป้องกันและรักษาโรค  ซึ่งคุณสมบัติของโสมที่มีการศึกษาได้แก่ สมรรถภาพของระบบประสาทการเคลื่อนไหว (psychomotor performance), สมรรถภาพทางกาย, ระบบการไหลเวียนโลหิต, กระบวนการเผาผลาญน้ำตาล (glucose metabolism), ระบบหายใจ, การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (erectile dysfunction), ภาวะสมดุลของภูมิคุ้มกัน (immunomodulation), คุณภาพชีวิต (quality of life), การต้านออกซิเดชั่น, มะเร็ง, อาการวัยทอง และอาการปากแห้ง  ซึ่งงานวิจัยของโสมที่ค่อนข้างมีความชัดเจนและเป็นที่สนใจคือการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญกลูโคส และการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน(5)

ต้านอนุมูลอิสระ

จากการศึกษาความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่าการได้รับโสมสกัดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านออกซิเดชั่นของร่างกายได้(6)


ต้านอักเสบ

มีการศึกษาวิจัยหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากโสมซึ่งได้แก่ จินซาน และจิงเซนโนไซด์ ( Rb1, Rd, Rg1, Rg3, Rh1, Rh2, Rh3 และ Rp1 ) มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบ โดยที่สามารถยับยั้งกระบวนการสร้างสารก่ออักเสบได้(7,8)

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

จิงเซนโนไซด์ชนิด Rc มีคุณสมบัติในการเพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์(9)

มาโลนิลจิงเซนโนไซด์ (malonyl ginsenoside) ที่พบในโสมเอเชียแบบสด และแบบแห้ง(โสมขาว) มีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดภาวะดื้ออินซูลินในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน  นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถลดระดับไขมันและคลอเรสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองได้อีกด้วย(10)

สำหรับในการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานในปีค.ศ. 1995 มีงานวิจัยแรกที่พบว่าการได้รับโสมจะให้ผลดีกับผู้ป่วยโดยสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting blood glucose) ได้นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกายและใจของผู้ป่วย(11)  Ma Sw (2008 อ้างโดย Yuan, 2012) ได้พบว่าการได้รับโสมสามารถลดภาวะดื้ออินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้(12)

Yuan และคณะ (2012) ได้กล่าวว่าจากการศึกษาในเซลล์ และสัตว์ทดลองที่ผ่านมาอาจจะสรุปกลไกในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของโสมได้ 4 ระดับคือ 1) ควบคุมการผลิตและหลั่งอินซูลิน, 2) ควบคุมกระบวนการเผาผลาญน้ำตาล, 3) ควบคุมการนำน้ำตาลเข้าเซลล์ และ 4) ควบคุมกระบวนการอักเสบ
กลไกการลดระดับน้ำตาลในเลือดของโสม
Photo CR: Yuan, et al., 2012

ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน(7,13)

เพิ่มประสิทธิภาพในการจับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคกิน (phagocytosis) ของแมคโครฟาจ และยังเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างสารเคมีของแมคโครฟาจที่ใช้ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค

ควบคุมการทำงานของเดนไดร์ตริกเซลล์ (dendritic cell) โดยมีทั้งการกระตุ้นและการยับยั้ง

เพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื่อโรคของเซลล์เพชรฆาต (natural killer cell)

กระตุ้นการตอบสนองและการสร้างภูมิ IgA, IgM, IgG และ หน่วยย่อยของIgG  แต่ก็มีบางงานวิจัยที่พบว่าการได้รับโสมจะไปลดการสร้างภูมิเช่น IgA และ IgG ในบางกรณี

เพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากเซลล์โดยแอนติบอดี้ ADCC (antibody dependent cell mediated cytotoxicity)

กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของลิมโฟซัยท์ชนิดทีเซลล์ (T cell) และยังคอยคุมการทำงานของทีเซลล์ (T cell) ไม่ให้มากเกินเพื่อป้องกันการเกิดภาวะภูมิแพ้ตัวเอง

ควบคุมการหลั่งไซโตไคน์ต่างๆ (cytokine)ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีทั้งการกระตุ้นและการยับยั้ง

ลดการอักเสบต่างๆเนื่องจากการทำงานของภูมิคุ้มกัน

เพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดจุลชีพต่างๆอันได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสเอดส์ และอื่นๆ

มีคุณสมบัติเป็นสารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) ในวัคซีน

ปกป้อง และต้านโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง(14,15)

โรคอัลไซเมอร์
  • ฟื้นฟูความจำ
จิงเซนโนไซด์ในโสมที่มีการศึกษามากในประสิทธิภาพในการฟื้นฟูความจำในโรคอัลไซเมอร์คือ Rb1 และ Rg1  รวมถึงเมตาบอไลซ์ของมันด้วย เช่น M1 และ compound K (เมตาบอไลซ์ของ Rb1)  โดยสารเหล่านี้สามารถฟื้นฟูความจำในการจดจำตำแหน่งวัตถุและสิ่งแวดล้อมในหนูทดลองที่มีการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะบกพร่องทางความจำต่างๆ เช่น การฉีดเปบไทด์บีต้าอมีลอยด์เข้าไป การกระตุ้นด้วยมอร์ฟีน การกระตุ้นด้วยภาวะเครียดเรื้อรังโดย และแบบจำลองภาวะสมองขาดเลือด เป็นต้น  กลไกในการทำงานของจิงเซนโนไซด์เหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการเจริญเติบโตของแขนงเซลล์ประสาท (neurite), การฟื้นฟูการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่าการส่งสัญญาณระยะยาว (long term potentiation), เพิ่มการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์ของเซลล์ตั้งต้นประสาท (neural progenitor cell) กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทเช่น กาบา (gaba) และ การกระตุ้นปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงสมอง (neurotrophic factor) ซึ่งบทบาทหน้าที่เหล่านี้ในการปรับการทำงานของสมองในกลไกที่ทำให้เกิดความจำ (synaptic plasticity) จะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการรู้คิด และจดจำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้
  • ปกป้องสมอง
จิงเซนโนไซด์ในโสมมีคุณสมบัติในการปกป้องสมองโดยตรงจากพิษของสารสื่อประสาทกูลตาเมตที่มากเกินไป และการสะสมของแอมีลอยด์บีต้า (amyloid beta) สืบเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นของมัน
  • ต้านอักเสบ
เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์มีความเกี่ยวข้องกับการอักเสบ  ทั้งนี้มีการศึกษาที่พบว่ามีจิงเซนโนไซด์หลายตัวที่สามารถลดการอักเสบของระบบประสาทได้ ซึ่งได้แก่ Rb1, Rd, Re, Rg1, Rg3 และ Rh2
  • ลดการผลิตแอมีลอยด์บีต้า
การสะสมของแอมีลอยด์บีต้าถือเป็นทฤษฎีหนึ่งของสาเหตุการเป็นโรคอัลไซเมอร์  โดยจิงเซนโนไซด์ที่มีการศึกษาว่าสามารถลดการผลิตแอมีลอยด์บีต้าในสัตว์ทดลองที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้แก่ Rg1, Rg3 และ Re
  • ยับยั้งกิจกรรมเอนไซม์บีต้าซีเครเทส (β-secretase)
เอนไซม์บีต้าซีเครเทสเป็นเอนไซม์ที่มีความข้องเกี่ยวในการผลิตแอมีลอยด์บีต้า  มีการศึกษาที่พบว่าจิงเซนโนไซด์ที่สามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์บีต้าซีเครเทสได้แก่ Rg1 และ Rb1
  • ลดการเติมหมู่ฟอสเฟตของโปรตีนเทา (tau protein)
การเติมหมู่ฟอสเฟตที่มากผิดปกติของโปรตีนเทาก็ถือเป็นทฤษฎีหนึ่งของสาเหตุการเป็นโรคอัลไซเมอร์  มีการศึกษาที่พบว่าจิงเซนโนไซด์ Rb1, Rg1 และ Rd สามารถลดการเติมหมู่ฟอสเฟตของโปรตีนเทาได้
  • เพิ่มการปลดปล่อยสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีน (acetylcholine)
การลดลงของเซลล์ประสาทโคลีนเนอร์จิก (cholinergic neuron) จะส่งผลให้การผลิตสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีน ลดลงซึ่งเชื่อว่าก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์  มีการศึกษาที่พบว่าจิงเซนโนไซด์ Rb1 และ Rg1 สามารถเพิ่มการปลดปล่อยสารสื่อประสาทได้และพบระดับสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีนเพิ่มขึ้นในสมองสัตว์ทดลอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิงเซนโนไซด์ Rb1 ที่สามารถเพิ่มการปล่อยสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีนในเซลล์สมองของหนูที่มีการสะสมของแอมีลอยด์บีต้าได้


โรคพาร์กินสัน หรือ โรคสันนิบาตลูกนก
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์สมองส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทโดพามีนตายไป ทำให้เกิดการขาดโดพามีน และส่งผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
จิงเซนโนไซด์ในโสมมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่น จึงสามารถป้องกันการตายของเซลล์สมองจากสารเคมีต่างๆ(เช่น โดพามีน, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และ MPTP) ที่จะเป็นเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันได้  ซึ่งจิงเซนโนไซด์ที่มีการศึกษาได้แก่ Rg1 และ Rb1

โรคทางสมองอื่นๆ
จิงเซนโนไซด์ในโสมอาจให้ผลดีกับโรคทางสมองอื่นๆ ได้แก่ โรคฮันติงตัน, โรคเอแอลเอส หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง (amyotrophic lateral sclerosis), โรคสมองขาดเลือด (cerebral ischemia), ภาวะซึมเศร้า (depression), โรควิตกังวล (anxiety), การติดยาเสพติด (addiction), โรคทางจิตเวช (psychiatric disorder) และโรคพัฒนาการทางสมอง เช่นออทิสติก และ สมาธิสั้น

ปกป้องและต้านโรคหัวใจ(16)

เพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนของเลือด, ต้านการทำลายผนังหลอดเลือด และเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจากอนุมูลอิสระ, ลดการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันในเลือดทำให้เลือดไม่เหนียว, ลดการเกิดลิ่มเลือด, ลดระดับไขมันในเลือด และควบคุมความดันโลหิต  โดยจิงเซนโนไซด์ที่นิยมทำการศึกษาได้แก่ Rb1, Rg1, Rg3, Rh1, Re และ Rd

ป้องกันและต้านโรคมะเร็ง(17)

ต้านการเพิ่มจำนวนเซลล์ (antiproliferative), ลดการสร้างเส้นเลือดใหม่ทีจะไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (antiangiogenic), กระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็ง (apoptotic), ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (antimetastatic) และเพิ่มประสิทธิภาพของยา และกระบวนการในการรักษาโรคมะเร็ง

บรรเทาอาการวัยทอง(18)

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานโสมอาจช่วยบรรเทาอาการวัยทองได้แต่ยังไม่ชัดเจนและมีจำนวนการศึกษาน้อยเกินไปซึ่งคงต้องพิจารณากันต่อไป

การศึกษาความเป็นพิษ

ไม่พบความเป็นพิษ และการก่อมะเร็งในการศึกษาในหนูทดลองเป็นระยะเวลา 2 ปี(19) แต่อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าการรับประทานโสมในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ถ่ายท้อง มีผื่นขึ้น ซึ่งเรียกอาการเหล่านี้ว่า ginseng abuse syndrome  ซึ่งมักจะพบในผู้ที่รับประทานโสมเกิน 3 กรัมต่อวัน(20)  ซึ่งทางองค์การอาหารและยาของไทยได้อนุญาติให้ใช้โสมในเครื่องดื่มในปริมาณไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน(21)

ที่มา
  1. Yun, T. K. (2001). Brief introduction of Panax ginseng CA Meyer. Journal of Korean medical science, 16(Suppl), S3.
  2. Popovich, D. G., Yeo, C. R., & Zhang, W. (2012). Ginsenosides derived from Asian (Panax ginseng), American ginseng (Panax quinquefolius) and potential cytoactivity. Int J Biomed Pharm Sci, 6, 56-62.
  3. Kim, D. H. (2012). Chemical diversity of Panax ginseng, Panax quinquifolium, and Panax notoginseng. Journal of ginseng research, 36(1), 1.
  4. Im, D. S., & Nah, S. Y. (2013). Yin and Yang of ginseng pharmacology: ginsenosides vs gintonin. Acta Pharmacologica Sinica.
  5. Shergis, J. L., Zhang, A. L., Zhou, W., & Xue, C. C. (2013). Panax ginseng in randomised controlled trials: a systematic review. Phytotherapy Research,27(7), 949-965.
  6. Kim, H. G., Yoo, S. R., Park, H. J., Lee, N. H., Shin, J. W., Sathyanath, R., ... & Son, C. G. (2011). Antioxidant effects of< i> Panax ginseng</i> CA Meyer in healthy subjects: A randomized, placebo-controlled clinical trial. Food and Chemical Toxicology, 49(9), 2229-2235.
  7. Song, J. Y., Akhalaia, M., Platonov, A., Kim, H. D., Jung, I. S., Han, Y. S., & Yun, Y. S. (2004). Effects of polysaccharide ginsan fromPanax ginseng on liver function. Archives of pharmacal research, 27(5), 531-538.
  8. Lee, D. C., & Lau, A. S. (2011). Effects of Panax ginseng on tumor necrosis factor-α-mediated inflammation: a mini-review. Molecules, 16(4), 2802-2816.
  9. Lee, M. S., Hwang, J. T., Kim, S. H., Yoon, S., Kim, M. S., Yang, H. J., & Kwon, D. Y. (2010). Ginsenoside Rc, an active component of< i> Panax ginseng</i>, stimulates glucose uptake in C2C12 myotubes through an AMPK-dependent mechanism. Journal of ethnopharmacology, 127(3), 771-776.
  10. Liu, Z., Li, W., Li, X., Zhang, M., Chen, L., Zheng, Y. N., ... & Ruan, C. C. (2013). Antidiabetic effects of malonyl ginsenosides from< i> Panax ginseng</i> on type 2 diabetic rats induced by high-fat diet and streptozotocin.Journal of ethnopharmacology, 145(1), 233-240.
  11. Sotaniemi, E. A., Haapakoski, E., & Rautio, A. (1995). Ginseng Therapy in Non-Insulin-Dependent Diabetic Patients: Effects on psychophysical performance, glucose homeostasis, serum lipids, serum aminoterminalpropeptide concentration, and body weight. Diabetes care,18(10), 1373-1375.
  12. Yuan, H. D., Kim, J. T., Kim, S. H., & Chung, S. H. (2012). Ginseng and diabetes: the evidences from in vitro, animal and human studies. Journal of ginseng research, 36(1), 27.
  13. Kang, S., & Min, H. (2012). Ginseng, the'Immunity Boost': The Effects of Panax ginseng on Immune System. Journal of ginseng research, 36(4), 354.
  14. Kim, H. J., Kim, P., & Shin, C. Y. (2013). A comprehensive review of the therapeutic and pharmacological effects of ginseng and ginsenosides in central nervous system. Journal of ginseng research, 37(1), 8.
  15. Wang, Y., Kan, H., Yin, Y., Wu, W., Hu, W., Wang, M., ... & Li, W. (2014). Protective effects of ginsenoside Rg1 on chronic restraint stress induced learning and memory impairments in male mice. Pharmacology Biochemistry and Behavior, 120, 73-81.
  16. Lee, C. H., & Kim, J. H. (2014). A review on the medicinal potentials of ginseng and ginsenosides on cardiovascular diseases. Journal of Ginseng Research.
  17. Chen, S., Wang, Z., Huang, Y., O'Barr, S. A., Wong, R. A., Yeung, S., & Chow, M. S. S. (2014). Ginseng and Anticancer Drug Combination to Improve Cancer Chemotherapy: A Critical Review. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine, 2014.
  18. Kim, M. S., Lim, H. J., Yang, H. J., Lee, M. S., Shin, B. C., & Ernst, E. (2013). Ginseng for managing menopause symptoms: a systematic review of randomized clinical trials. Journal of ginseng research, 37(1), 30.
  19. Chan, P. C., Peckham, J. C., Malarkey, D. E., Kissling, G. E., Travlos, G. S., & Fu, P. P. (2011). Two-year toxicity and carcinogenicity studies of Panax ginseng in Fischer 344 rats and B6C3F1 mice. The American journal of Chinese medicine, 39(04), 779-788.
  20. Thefreedictionary. (2002). Ginseng Abuse Syndrome (Online). Available : http://medical-dictionary.thefreedictionary.com/Ginseng+Abuse+Syndrome (June, 27 2014)
  21. กองควบคุมอาหาร. (2552). บัญชีพืชที่อนุญาติให้ใช้ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  22.