ตรีผลา(Triphala)
เป็นตำรับที่ใช้ในการแพทย์อายุรเวทและการแพทย์แผนไทย
ตรีผลาประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 ชนิดคือ มะขามป้อม สมอไทย และสมอพิเภก
ซึ่งสัดส่วนการผสมขึ้นอยู่กับตำรับที่ใช้
เช่นในการแพทย์อายุรเวทของอินเดียจะใช้อัตราส่วน 1:1:1(1) ส่วนการแพทย์แผนไทยจะใช้ในหน้าร้อนโดยมีสัดส่วนการผสมต่างกันขึ้นกับกองสมุฏฐานโรค
เช่น แก้เสมหะสมุฏฐาน(โรคธาตุน้ำในหน้าร้อน)ใช้อัตราส่วนมะขามป้อม:สมอไทย:สมอพิเภกคือ 12:4:8 แก้ปิตตะสมุฏฐาน(โรคธาตุไฟในหน้าร้อน)ใช้อัตราส่วน
4:8:12 เป็นต้น(2)
คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากรังสี,
ต้านอักเสบ, ลดระดับน้ำตาลในเลือด, ลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด, ต้านภาวะชราภาพ,
ต้านจุลชีพ, ต้านไวรัส, ต้านมะเร็ง, ต้านเบาหวาน, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน(1,6)
คุณสมบัติในการป้องกัน และรักษาโรค
โรคมะเร็ง
สมุนไพรทั้ง 3 ตัวแต่ละตัวที่เป็นส่วนผสมในตรีผลา
รวมถึงส่วนผสมตรีผลาเองนั้นมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง โดยมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งและเนื้องอก
ทำลายเซลล์มะเร็ง ต้านการกลายพันธุ์ของเซลล์ และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงสามารถเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็งเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง(1,3,6)
- สารสกัดด้วยน้ำของส่วนผสมตรีผลาในอัตราส่วน 1:1:1 มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับเซลล์ปรกติ(3)
- จากการทดลองป้อนตรีผลาทางปากในหนูทดลองที่มีการปลูกถ่ายเนื้องอกเป็นเวลา 7 วันพบว่าขนาดเนื้องอกของหนูทดลองมีขนาดเล็กลงซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติในการกระตุ้นการตายของเซลล์เนื้องอก(3)
- มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับอ่อน โดยจากการป้อนตรีผลาทางปากในหนูทดลองที่ปริมาณ 50 หรือ 100 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. สามารถยับยั้งการเจริญของเนื้องอกตับอ่อนได้
- กรดกัลลิก(Gallic acid)ที่พบในตรีผลาถือเป็นสารประกอบฟินอลิกที่สำคัญที่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง(1,3)
- มีความเฉพาะเจาะจงในการกระตุ้นการเกิดออกซิเดชั่นเฉพาะภายในเซลล์มะเร็ง และต้านออกซิเดชั่นเฉพาะในเซลล์ปรกติ ทำให้เร่งการทำลายของเซลล์มะเร็งและปกป้องเซลล์ปรกติจากอนุมูลอิสระ(1,3,6)
- มีประสิทธิภาพในการเข้าไปจับการสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถลดการเกิดเนื้องอกในหนูทดลองได้ 77.77% และ 66.66% ในการศึกษาระยะสั้น และระยะยาวตามลำดับ(1)
- สารสกัดด้วยน้ำของตรีผลามีคุณสมบัติในการป้องกันเซลล์จากการทำลายของรังสี รวมถึงผลข้างเคียงจากการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยจากการป้อนตรีผลาทางปากในหนูทดลองเป็นเวลา 7 วัน ก่อนและหลังการฉายรังสีพบว่าสามารถลดอัตราการตายของหนูเนื่องจากการฉายรังสีได้(1,3,6)
โรคเครียด
ตรรีผลามีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นที่มีประสิทธิภาพจึงช่วยลดการทำลายของเซลล์จากอนุมูลอิสระเนื่องจากภาวะความเครียด
และช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น(6)
- จากการศึกษาในหนูทดลองที่มีการกระตุ้นให้เกิดความเครียดด้วยความหนาวเย็น(ให้อยู่ในที่อุณหภูมิ 8oC วันละ 16 ชั่วโมงเป็นเวลา 15 วัน) พบว่าหนูที่ได้รับตรีผลาในปริมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.เป็นเวลา 48 วัน(ได้รับก่อนเข้าสู่สภาวะหนาวเย็น 33 วัน และได้รับต่อเนื่องตลอดช่วงอยู่ในสภาวะหนาวเย็น 15 วัน รวมได้รับทั้งหมด 48วัน) สามารถลดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย และพฤติกรรมต่างๆที่เกิดจากความเครียดเนื่องจากความหนาวเย็นได้(4)
- จากการศึกษาในหนูทดลองที่มีการกระตุ้นให้เกิดความเครียดด้วยเสียงดัง(100 เดซิเบล วันละ 4 ชั่วโมงเป็นเวลา 15 วัน) พบว่าหนูที่ได้รับตรีผลาในปริมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.เป็นเวลา 48 วัน สามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงการต้านออกซิเดชั่น และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเนื่องจากความเครียดได้(5)
โรคเบาหวาน
ตรีผลามีคุณสมบัติในการต้านโรคเบาหวาน(6)
- จากการให้สารสกัดตรีผลาในหนูทดลองที่ได้รับอาหารน้ำตาลสูงพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาปรกติได้(7
- จากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน(non insulin dependent Diabetes mellitus) พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับตรีผลาผงปริมาณ 5 กรัม เป็นเวลา 45 วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ(8)
โรคข้ออักเสบ
ตรีผลามีคุณสมบัติในการต้านอักเสบที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถต้านโรคข้ออักเสบได้(1,6)
- จากการศึกษาในหนูทดลองที่มีการกระตุ้นให้มีอาการข้ออักเสบพบว่าหนูที่ได้รับตรีผลาในปริมาณ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาที่ใช้ในการรักษาข้ออักเสบ(9)
ฟันผุ
ตรีผลาสามารถช่วยควบคุมคราบแบคทีเรียบนผิวฟัน(plaque) การอักเสบของเหงือก
และการเจริญของเชื่อแบคทีเรียในช่องปากได้
ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเคียงน้ำยาบ้วนปาก(1,6)
โรคติดเชื้อต่างๆ
ตรีผลามีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด
โดยการรับประทานตรีผลาเป็นประจำทุกวันจะช่วยควบคุมการติดเชื้อที่บริเวณลำไส้เล็ก(Enteric infection)ได้(1,6)
ท้องเสีย/ท้องผูก
ตรีผลามีคุณสมบัติในการลดอาการท้องเสีย
และมีฤทธิ์ระบายสำหรับอาการท้องผูก(6)
โรคอ้วน
จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าตรีผลามีคุณสมบัติในการต้านโรคอ้วนเนื่องจากสารประกอบฟินอลิก
กรดกัลลิก และกำลังดำเนินการศึกษาทางคลีนิกในคนถึงประสิทธิภาพในการต้านโรคอ้วน(6)
บาดแผล
ขึ้ผึ้งที่ทำจากตรีผลามีคุณสมบัติในการสมานแผล
โดยลดจำนวนแบคทีเรียบนแผล และเพิ่มการสร้างคอลลาเจน(1,6)
การศึกษาความเป็นพิษ
ตรีผลาจัดเป็นตำรับสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงทั้งตัวสมุนไพรแต่ละตัวที่เป็นส่วนประกอบหรือการผสมรวมกันทั้งสามตัว
- จากการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันของตรีผลาในหนูขาวเพศผู้ และเพศเมียที่ปริมาณการได้รับสูงถึง 23.04 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน(64 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน) เป็นเวลา 10 วัน พบว่าตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานไม่พบความเป็นพิษในหนูทั้งสองเพศ แต่จะพบความไวต่อพิษในหนูเพศเมียในตำรับปิตตะสมุฏฐานซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของการสะสมไขมันที่ตับ และภาวะแคลเซียมเกาะที่เนื้อไต(nephrocalcinosis) และตำรับวาตะสมุฏฐานซึ่งเกิดภาวะแคลเซียมเกาะที่เนื้อไต และ Hydrocalyx มากกว่าชุดควบคุม(2
- สารสกัดจากสมุนไพรทั้ง 3 ตัวในตรีผลาไม่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื้อ(Cytotoxic)(3)
- ไม่พบความเป็นพิษในหนูทดลองของสารสกัดสมอไทยด้วยอัลกอฮอล์ที่ปริมาณ 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน(3)
- การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดมะขามป้อมพบว่ามีค่า LD50 มากกว่า 5000 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ในหนูทดลอง(3)
- ค่า LD50 ของสารสกัดสมอพิเภกด้วยอัลกอฮอล์มีค่า 4.25 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. และไม่พบความเป็นของสารสกัดสมอพิเภกด้วยที่ปริมาณ 3.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ในหนูทดลอง(3)
การนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ
ในการแพทย์อายุรเวทตรีผลาจัดเป็นตำรับยาที่ฟื้นฟู
และให้ความสมดุลของระบบ 3 ระบบได้แก่ วาตะ ปิตตะ และคัพพะ(1)
ตรีผลามีฤทธิ์ระบาย, ขับสารพิษ, ช่วยในการย่อยและดูดซึมอาหาร
และฟื้นฟูร่างกาย และยังมีการใช้ในโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลดระดับคลอเรสเตอรอล
การทำงานของตับไม่สมบรูณ์ ลำไส้ใหญ่ติดเชื้อ และแผลในกระเพาะอาหาร(10)
ที่มา
- Gowda, D. V., Muguli, G., Rangesh, P. R., & Deshpande, R. D.(2012) PHYTOCHEMICAL AND PHARMACOLOGICAL ACTIONS OF TRIPHALA: AYURVEDIC FORMULATION-A REVIEW. Int J Pharm Sci Rev Res, 15(2), no12, 61-65
- ปราณี ชวลิตธำรง และคณะ.(1996). พิษกึ่งเฉียบพลันของยาแผนโบราณตรีผลา. ว. กรมวิทย์ พ.38(3):169-191
- Wongnoppavich, A., Jaijoi, K., & Sireeratawong, S. (2009). Triphala: The Thai traditional herbal formulation for cancer treatment. Songklanakarin Journal of Science and Technology, 31(2), 139-149.
- Dhanalakshmi, S., Devi, R. S., Srikumar, R., Manikandan, S., & Thangaraj, R. (2007). Protective effect of Triphala on cold stress-induced behavioral and biochemical abnormalities in rats. Yakugaku Zasshi, 127(11), 1863-1867.
- Srikumar, R., Parthasarathy, N. J., Manikandan, S., Narayanan, G. S., & Sheeladevi, R. (2006). Effect of Triphala on oxidative stress and on cell-mediated immune response against noise stress in rats. Molecular and cellular biochemistry, 283(1-2), 67-74.
- Mohammad, K., & Larijani, B. A systematic review of the antioxidant, anti-diabetic, and anti-obesity effects and safety of triphala herbal formulation. Journal of Medicinal Plants Research Vol. 7(14), pp. 831-844, 10 April, 2013
- Prativadibhayankaram, V. S.; Samir Malhotra; Promila Pandhi; Amritpal Singh, 2008: Anti-diabetic activity of Triphala fruit extracts, individually and in combination, in a rat model of insulin resistance. Natural Product Communications 3(2): 251-256.
- Rajan, S. S., & Antony, S. (2008). Hypoglycemic effect of triphala on selected non insulin dependent Diabetes mellitus subjects. Ancient science of life,27(3), 45.
- Sabina, E. P., & Rasool, M. (2007). Therapeutic efficacy of Indian ayurvedic herbal formulation triphala on lipid peroxidation, antioxidant status and inflammatory mediator TNF-α in adjuvant induced arthritic mice. Int J Biol Chem, 1(3), 149-155.
- Mukherjee, P. K., Rai, S., Bhattacharyya, S., Debnath, P. K., Biswas, T. K., Jana, U., ... & Paul, P. K. (2006). Clinical Study of'Triphala'-A Well Known Phytomedicine from India. Iranian Journal of Pharmacology & Therapeutics (IJPT), 5(1), 51-54.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น